นายกฯ กระตุ้น ACMECS ดึงหุ้นส่วนนอกกลุ่มร่วมพัฒนาโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 4 ว่า สำหรับไทยแล้ว ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นเวทีหารือเฉพาะของประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริง และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ ACMECS ได้ริเริ่มแนวทางสำหรับดึงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาจำนวนมากที่สนใจ ให้เข้ามามีส่วนในโครงการ ACMECS และกรอบ ACMECS กับประเทศอื่น

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ตามปฏิญญาพุกาม ปี 2003 ที่มุ่งสร้างความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาอย่างสมดุลร่วมกันบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การค้าและการลงทุนตามชายแดนเพิ่มขึ้น ครึ่งปีแรกในปี 2009 มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศ ACMECS เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีพัฒนาการที่สำคัญในสาขาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ยังจะได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการ ACMECS ฉบับใหม่ปี 2010 - — 2012 โดยเน้นบทบาทสำคัญของประชาชนในท้องถิ่น ที่เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากแผนงานและโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ACMECS ยังได้มีการหารือกับผู้แทนภาคธุรกิจ ซึ่งภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ACMECS

ACMECS ยังได้ให้ความสำคัญต่อโครงการการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เพื่อเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ล่าสุด ประเทศไทยได้เห็นชอบและอยู่ในแผนที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โครงการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนกว่า 4,200 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเพิ่มจากยอดเงินจำนวน 15000 ล้านบาท ที่ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในอนาคต ไทยพร้อมพัฒนาเส้นทางรถไฟ เชื่อมโยงไทยกับเพื่อนบ้านด้วย

พร้อมกันนี้ ยังจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนควบคู่ โดยไทยพยายามเร่งรัดกระบวนการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน (CBTA) และจะจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจำนวน 10 แห่งตามแนวชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าศุลกากร และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

รัฐสภาไทยยังได้เห็นชอบต่อโครงการความตกลงการตรวจลงตราเดียวกันภายใต้กรอบ ACMECS เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สาม และส่งเสริมแนวคิด “ห้าประเทศ หนึ่งจุดหมาย"

สำหรับความร่วมมือสาขาเกษตรกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรม เสนอให้เร่งจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและฐานการผลิตร่วมตามแนวชายแดน ขณะที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นประเด็นหลักภายใต้แนวความคิดความร่วมมือใต้-ใต้ รวมทั้ง ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ไทยให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศ ACMECS และไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ