นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนพ.ย. จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีฝนตกในแหล่งผลิต ในขณะที่ราคาข้าวสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงตุลาคมแหล่งรับซื้อหลายแห่งได้ปิดกิจการชั่วคราวและได้เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ความต้องการของตลาดมีมากขึ้น ประกอบกับแหล่งผลิตในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ในขณะนี้ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนดัชนีผลผลิตในภาพรวม คาดว่าจะยังคงสูงขึ้น เพราะมีผลผลิตสินค้าสำคัญหลายชนิดออกสู่ตลาดมากขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี และสับปะรดโรงงาน
ขณะที่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนตุลาคม 2553 อยู่ที่ 161.15 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น 29.07% ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาสูงขึ้น 1.23%
โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสับปะรดโรงงาน ส่วนราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาปรับตัวลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับมีฝนตกในแหล่งผลิตทำให้คุณภาพลดลง ส่วนมันสำปะหลังราคาปรับตัวลดลง มีสาเหตุมาจากฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกร เก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังหนีน้ำ ทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งลดลง และปศุสัตว์ ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจและปิดภาคเรียน
ส่วนภาพรวมของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือนตุลาคม 2553 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 5.85% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 4.39% แบ่งออกเป็น
หมวดพืชอาหาร ดัชนีผลผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 19.10% แต่เทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีเพิ่มขึ้น 21.07%
หมวดพืชน้ำมัน ดัชนีผลผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 11.68% เทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีลดลง 2.70%
หมวดพืชไม้ยืนต้น ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3.43% เทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีลดลง 8.49%
หมวดพืชไม้ผล ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 9.88% แต่เทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีลดลง 11.91%
หมวดปศุสัตว์ ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 7.23% เทียบกับเดือน ที่ผ่านมาดัชนีเพิ่มขึ้น 5.62%
หมวดพืชพลังงาน ดัชนีผลผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 22.12% แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาดัชนีเพิ่มขึ้น 50.95%