FED เตรียมทดสอบภาวะวิกฤตแบงก์พาณิชย์รายใหญ่สหรัฐรอบสอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นมีฐานเงินทุนมากพอ

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 18, 2010 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) รอบใหม่ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 19 แห่งในสหรัฐ ซึ่งรวมถึงซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และเวลส์ ฟาร์โก เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารเหล่านี้สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ พร้อมระบุว่า ธนาคารที่ผ่านการทดสอบจะสามารถเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้

คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบภาวะวิกฤตของเฟดระบุว่า ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เหล่านี้จะต้องมีข้อมูลที่พิสูจน์ให้เห็นว่า มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีฐานเงินทุนมากพอที่จะรองรับการขดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องยื่นแผนการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารมีเงินทุนกันชน (capital buffer) ที่เพียงพอในการรับมือกับการขาดทุนในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงในยามที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ เฟดระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 19 แห่งที่จะต้องรับการตรวจสอบในครั้งนี้ จะต้องยื่นแผนการดำเนินงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบภาวะวิกฤตของเฟดภายในวันที่ 7 ม.ค.2554 แม้ธนาคารไม่มีความประสงค์ที่จะเพิ่มการจ่ายเงินปันผลก็ตาม

การตรวจสอบภาวะวิกฤตรอบใหม่นี้ เป็นหนึ่งในความพยายามของเฟดที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ธนาคารพาณิชย์และระบบการเงินของสหรัฐยังคงมีเสถียรภาพ เพราะความปลอดภัยและความแข็งแกร่งของภาคธนาคารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการขยายเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เฟดกล่าวว่า ธนาคารที่ไม่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้จะต้องระดมเงินทุนเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต

สำหรับการทดสอบภาวะวิกฤตของเฟดมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐเพิ่งฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยในครั้งนั้นเฟดได้เปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เฟดระบุว่า ผลการทดสอบภาวะวิกฤตรอบสองจะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐที่ว่า ควรจะปิดข้อมูลการทดสอบไว้เป็นความลับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ