Analysis: สหภาพยุโรปเผชิญสถานการณ์ลำบากเรื่องแผนการให้ความช่วยเหลือไอร์แลนด์

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 18, 2010 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ด้วยความลังเลของทางไอร์แลนด์เอง ส่งผลให้สหภาพยุโรปหรืออียูไม่ได้ใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ไอร์แลนด์ไปก่อนหน้านี้ แต่ได้ตัดสินใจที่จะส่งคณะทำงานไปยังไอร์แลนด์ เพื่อหาทางตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคธนาคารที่มีปัญหาในไอร์แลนด์แทน

สถานการณ์ดังกล่าวเรียกได้ว่า ทำให้ผู้บริหารของกลุ่มอียูนั้นต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับไอร์แลนด์ แม้ว่าจะมีการจัดตั้งเงินทุนมูลค่า 7.50 แสนล้านยูโร หรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่อาจจะเผชิญกับวิกฤตเหมือนกับกรีซ

ความลังเลของไอร์แลนด์

แม้ว่าตลาดจะวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ของไอร์แลนด์ ทางไอร์แลนด์ก็ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากอียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

นายไบรอัน โคเวน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ไอร์แลนด์ไม่ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากภายนอก และย้ำว่าไอร์แลนด์มีเงินทุนเพียงพอไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า พร้อมกับยืนยันว่า รัฐบาลไอร์แลนด์อยู่ในระหว่างการเจรจากับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับภาคการธนาคารที่มีปัญหาอยู่ ขณะที่นายไบรอัน เลนีแฮน รัฐมนตรีคลังของไอร์แลนด์ กล่าวว่า คณะทำงานของอียูและไอเอ็มเอฟเตรียมเข้ามาทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาในภาคการธนาคารของไอร์แลนด์แล้ว

รมว.คลังกล่าวว่า ประเด็นที่เราให้ความเห็นชอบก็คือ การพิจารณาเรื่องปัญหาในระดับโครงสร้างในภาคธนาคารของไอร์แลนด์ในช่วงที่เกิดแรงกดดันในตลาด เพื่อประเมินว่า จะต้องดำเนินการในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากปัญหาในภาคการธนาคารนั้นถือเป็นปัญหาทางด้านเทคนีคที่มีความยากลำบากในการแก้ไข

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ต้นทุนทั้งหมดในการช่วยเหลือภาคการธนาคารของไอร์แลนด์นั้นอาจจะสูงถึง 5 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้ไอร์แลนด์ขาดดุลงบประมาณในปีนี้ถึง 32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากเดิมที่ประเมินไว้ว่า จะขาดดุล 11%

ไอร์แลนด์นั้นดูเหมือนว่า จะต้องการให้มีการเข้ามาช่วยเหลือภาคการธนาคาร โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากสำนักงานกำกับเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) เพราะการใช้เงินทุนความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ไอร์แลนด์ต้องใช้มาตรการเพื่อลดงบประมาณอย่างเข้มงวด และมาตรการดังกล่าวอาจะนับรวมถึงการขึ้นภาษีและการลดค่าแรง

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายแนะนำให้ไอร์แลนด์จัดเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 12.5% เพื่อจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น

ประเทศในกลุ่มอียูบางประเทศนั้น ไม่พอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไอร์แลนด์ โดยมองว่า การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวถือเป็นการช่วยให้ไอร์แลนด์มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าและไม่เป็นธรรม เนื่องจากภาษีนิติบุคคลที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะต่ำนั้นได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมา และมีส่วนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ไอรด์แลนด์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการปรับขึ้นภาษี

ขออย่าให้เป็นเช่นแบบกรีซ

จากการที่ไอร์แลนด์ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อนำมาใช้กับทุกภาคส่วนของประเทศ เจ้าหน้าที่อียูจึงได้ยืนยันว่า การให้ความช่วยเหลือนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการสำหรับประเทศทั้งประเทศ

ขณะที่ประเทศสมาชิกอียูบางประเทศต้องการให้ไอร์แลนด์ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของสำนักงานกำกับเสถียรภาพการเงินยุโรป หากไอร์แลนด์ต้องการความช่วยเหลือจากสำนักงานฯ

ขณะที่โอลี เรน คณะกรรมาธิการด้านกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป กล่าวภายหลังการประชุมรมว.คลังอียูเมื่อวานนี้ว่า แผนการให้ความช่วยเหลือไอร์แลนด์นั้น จะต้องเป็นแผนระดับประเทศ แทนที่จะให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่ภาคการธนาคาร

เรนกล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือนั้น จะต้องดำเนินการผ่านทางโครงการสำหรับทั้งประเทศเท่านั้น แต่อาจเน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภาคการธนาคารเป็นพิเศษ การเจรจาทางด้านเทคนิคระหว่างอียูและรัฐบาลไอร์แลนด์จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเทศ ประเด็นแรกก็คือ แผนการลดงบประมาณระยะเวลา 4 ปีและแผนปี 2554 อีกประเด็นก็คือ สถานภาพของภาคการธนาคารของไอร์แลนด์ รวมทั้งความจำเป็นในการปรับโครงสร้าง

แม้ว่า สถานการณ์ในไอร์แลนด์จะซับซ้อนเมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในกรีซเมื่อเร็วๆนี้ แต่ความแตกต่างก็ยังเห็นได้ชัด กล่าวคือ ไอร์แลนด์ไม่ต้องการเงินทุนพิเศษในช่วงระยะเวลาก่อนกลางปีหน้า และภาวะขาดดุลจำนวนมากในประเทศอาจจะมาจากการให้ความช่วยเหลือภาคการธนาคาร ดังนั้นการคาดการณ์ที่ว่า อียูจะรับมือกับวิกฤตหนี้ไอร์แลนด์ในรูปแบบที่แตกต่างไปนั้น น่าจะเป็นการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผล

บทวิเคราะห์โดย หลิว เสี่ยวหยาน จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ