ธ.ก.ส.ลงพื้นที่โคราชช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด วางแนวทางให้กลับเข้าภาวะปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 18, 2010 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลด ใน จ.นครราชสีมา พบว่ามีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายจากอุทกภัยประมาณ 500,000ไร่ มูลหนี้รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเกษตรกรเสียชีวิต 3 ราย ต้นเงินที่เป็นหนี้ 140,000 บาท

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลังน้ำลด ธ.ก.ส. จะเข้าไปสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามความเดือดร้อน เช่น กรณีลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย ธ.ก.ส.จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญโดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง กรณีลูกค้าประสบภัยร้ายแรง จะพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553 — 2555 พร้อมงดคิดดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวจากรัฐบาลแทนเกษตรกร ในอัตรา MRR-1 ซึ่งขณะนี้เท่ากับ ร้อยละ 5.75 ต่อปี

นอกจากนี้จะให้เงินกู้ใหม่เพื่อไปฟื้นฟูการผลิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ปกติลงอีกร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส.จะขอชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวจากรัฐบาลร้อยละ 3 ต่อปี พร้อมก บการลดหย่อนหลักประกันการกู้เงิน เช่น ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จะขยายวงเงินกู้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง

กรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากเดิมกู้ได้ไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมล่าสุดคือการให้สินเชื่อใหม่แก่เกษตรกรลูก ชั้นดีเพื่อซ่อมแซมบ้าน/ยุ้งฉาง เครื่องมือการเกษตรโดยงดคิดดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4 ถึงปีที่ 3 ดอกเบี้ย MRR-2 คิดเป็นร้อยละ 4.75 ต่อปี ปีที่4-5 คิดดอกเบี้ย MRR-1 คิดเป็นร้อยละ 5.75 ต่อปี ปีที่ 6 ขึ้นไปคิดดอกเบี้ย MRR เท่ากับร้อยละ 6.75 ต่อปี นอกจากนี้ยังให้สินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อซ่อมแซมปัจจัยพื้นฐานที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย เช่น ถนน ประปา อาคาร เป็นต้น โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ MLR-2.25 คิดเป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี

สำหรับสถานการณ์ความเสียหายเบื้องต้นของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 55 จังหวัด จำนวนครัวเรือนที่ประสบภัย 537,026 ครัวเรือน มูลหนี้ประมาณ 48,640 ล้านบาท การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ประกอบด้วยนาข้าว 6,694,348 ไร่ พืชอื่นๆ 1,794,830 ไร่ พื้นที่ประมง 27,708ไร่ และสัตว์เลี้ยงจำนวน 1,381,831 ตัว ทั้งนี้ได้มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เสียชีวิตทั้งสิ้น จำนวน 12 ราย คือจากจังหวัดนครนายก 1 ราย นครราชสีมา 3 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย นครสวรรค์ 1 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย ชัยภูมิ 2 ราย ตรัง 1 ราย นครศรีธรรมราช 1ราย และพระนครศรีอยุธยา 1 ราย รวมต้นเงินกู้ 1,581,505 บาท ดอกเบี้ย 62,466.50 บาท ซึ่งในส่วนนี้ ธ.ก.ส. ได้ตัดเป็นหนี้สูญ

สำหรับภาคใต้ซึ่งเกิดเหตุการณ์อุทกภัยและวาตภัยอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีจังหวัดที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 12 จังหวัด 133 อำเภอ 856 ตำบล 5,991หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 548,258 ครัวเรือน ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร และระนอง ซึ่งยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ส่วนพื้นที่อื่นๆสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ