KGI คาดสศช.แถลง GDPไตรมาส 3/53โต 6%,แนวโน้มเข้าสู่ปกติ เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 18, 2010 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บทวิเคราะห์ของ บล.เคจีไอ คาดว่า GDP ไตรมาส 3/53 จะขยายตัว 6.0%YoY และลดลงเหลือ 1.5%YoY ในไตรมาส 4/53 จากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมในวงกว้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นจากราคาอาหารและราคาน้ำมันแพงขึ้น และการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

ทั้งนี้ ในปี 53 ประเมินว่า GDP มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 7.0% และชะลอตัวลงเหลือ 3.9-4.4% ในปี 54 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงทิศทางขาขึ้น คาดว่าในปี 2554 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ในช่วง 2.75-3.00%

เคจีไอ คาดว่า GDP ไตรมาส 3/53 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ(สภาพัฒน์)จะประกาศในวันที่ 22 พ.ย.53 จะขยายตัว 6.0% โดยมีสมมติฐาน คือ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว 1.8%YoY ลดลงจาก 6.5%YoY ในไตรมาส 2/53 รายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูงตามราคาสินค้าเกษตรช่วยให้การบริโภคยังขยายตัวเห็นได้จากการพุ่งขึ้นของยอดขายรถยนต์และรถจักรยายนต์

การใช้จ่ายภาครัฐจะอยู่ที่ 3.66 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 3.3%YoY จากการเร่งการเบิกจ่ายไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณปี 53, การลงทุนเพิ่มขึ้น 7.0%YoY ลดลงจาก 12.2%YoY การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 21.4%YoY ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวลง 21.7%YoYจากฐานของปีก่อนสูงซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง และภาคการส่งยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณและมูลค่า ส่งผลให้ส่งออกสุทธิขยายตัว 21.o%YoY

สำหรับภาวะน้ำท่วมในวงกว้างส่งผลให้ GDP ไตรมาส 4/53 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือ 1.5%YoY และส่งผลให้ GDP ปี 53 ขยายตัว 7.0% ลดลงจาก 7.2% จากการประมาณการก่อนหน้า โดยคาดว่าภาวะน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตของประเทศประมาณ 3.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ลดลง 0.34%

แต่การซ่อมแซมและก่อสร้างรวมทั้งการซื้อสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชน และ ครัวเรือน คาดว่าจะมีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.17% ของ GDP ทำให้ผลสุทธิอัตราการขยายตัว GDP ไตรมาส 4/53 ขยายตัวลดลง 0.17% เหลือ 1.5%YoY

การบริโภคส่วนบุคคลมีแนวโน้มลดลง 2.4%YoY การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 8.6% จากการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนการลงทุนภาครัฐและเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว 24.9%YoY เนื่องจากเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคภาครัฐ การก่อสร้างซ่อมแซมของภาคเอกชนและครัวเรือน

GDP ปี 54 มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะสามารถขยายตัวในช่วง 3.9-4.4% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.0% อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงทิศทางขาขึ้นขณะที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนไหลเข้า

ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมยังส่งผลต่อเนื่องต่อผลผลิตของระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 1/54 การก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมจากความเสียหายและการซื้อสินทรัพย์เพื่อทดแทนสินทรัพย์เดิมที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วมจะช่วยหนุนให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 4.2% ในปี 54 ลดลงจาก 4.8% ในปี 53 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโร ญี่ปุ่น และ อังกฤษ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงและยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่ GDP จีนและเอเชียแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่ยังขยายตัวในระดับสูงที่ 9.6% และ 5.4% ในปี 2554 ลดลงจาก 10.5% และ 6.6% ในปี 2553 บวกกับผลของการเจรจาการค้าระหว่าอาเซียนและจีนจะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกและปริมาณส่งออกขยายตัว 16.6% และ 8-14% ตามลำดับ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องและอาจจะกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปีหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาวะการจ้างงานดีขึ้น เราคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งคาขึ้นไปแตะระดับ 27.2 บาท/ดอลลาร์ ในไตรมาส 3/54 และ สิ้นปีจะกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ระดับ 27.5 บาท/ดอลลาร์ฯ

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มแกว่งตัวในช่วง 85-98 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีหน้า ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ราคาแกสโซฮอร์ 91 และราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแกว่งตัวในช่วง 30.0-31.7 บาทต่อลิตร และ 28.4-30.0 บาทต่อลิตร

ภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมในประเทศเกษตรกรรมจะส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง บวกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น บวกกับผลจากน้ำท่วมในช่วงปลายปีจะส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างแพงขึ้น ผลจากการปรับเงินเดือนข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือนและการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็นปัจจัยเร่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขึ้นไปเข้าใกล้ 3.0% ในไตรมาส 1/53 และ มีโอกาสเกิน 3.0% ในไตรมาส 2/53 และขยายตัวต่ำกว่า 3.0% เล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี

คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2.75-3.00% เพื่อลดแรงดดันต่อการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากทางด้านอุปสงค์ และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เพิ่มขึ้นไปเป็น 2.2% ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม MLR จะเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งเป็น 6.63% ในปีหน้า

ขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องหนุนโดยการลงทุนภาคเอกชน สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัว 7-9%คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 2.7% เทียบกับ GDP ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อนหน้า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเดินดุล 1.31 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 3.4% เทียบกับ GDP ลดลงจาก 3.9% ในปีก่อนหน้า มูลค่าส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือ16.6% เป็น 2.245 แสนล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.925 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 53 ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือ 18.0% เป็น 2.139 แสนล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.812 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 53

ปัจจัยบวกในปีหน้า คือ เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวในระดับสูงกว่า 9.5% , ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้นเนื่องจากการลดลงของผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วม ช่วยชดเชยปริมาณส่งออกที่ชะลอตัวลง, Moody’s และ S&P’s มีโอกาสปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการดีขึ้น, ภาคการเงินการธนาคารแข็งแกร่ง สภาพคล่องอยู่ในระดับสูงมากว่า 1.89 ล้านล้านบาทในเดือนกันยายน บวกกับเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.49% บวกกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำซึ่งช่วยหนุนและสามารถรองรับกับความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัว

ปัจจัยลบในปีหน้า ได้แก่ GDP โลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจาก 4.8% เหลือ 4.2% ในปี 54 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเปราะบางสูง ส่วนเศรษฐกิจประเทศยูโรแม้ว่าอาจจะขยายตัว 1.5% ยังมีความเสี่ยงทางด้านภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง, รัฐบาลสหรัฐยังต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลในระดับสูง และ Fed ยังต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มมากขึ้น เร่งให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์จะผันผวนมากขึ้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาส 2/53 จากวันไม่สงบทางการเมืองในประเทศ นอกจากนี้ภาวะน้ำท่วมช่วงไตรมาส 4/ ในวงกว้างจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ