ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าไอร์แลนด์จะสามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้ หลังจากธนาคารกลางไอร์แลนด์คาดว่า ไอร์แลนด์จะตกลงรับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นวงเงินหลายหมื่นล้านยูโร
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3633 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธ (17 พ.ย.) ที่ 1.3518 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.92% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.6040 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5894 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.490 เยน จากระดับของวันพุธที่ 83.240 เยน และพุ่งขึ้น 0.40% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9964 ฟรังค์ จากระดับ 0.9924 ฟรังค์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 1.09% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9890 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธ 0.9783 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.13% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7774 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7687 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินยูโรเพราะคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในไอร์แลนด์ หลังจากแพทริก โฮโนฮาน ผู้ว่าการธนาคารกลางไอร์แลนด์คาดว่า ไอร์แลนด์จะตกลงรับเงินช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านยูโร เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศ
ทั้งนี้ อียูและไอเอ็มเอฟต้องประเมินมูลค่าหนี้สาธารณะ รวมถึงสถานะการคลังของไอร์แลนด์ และสถานะการเงินของธนาคารในประเทศ รวมถึงกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่า ไอร์แลนด์จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยการแสดงความคิดเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางไอร์แลนด์ที่นครแฟรงก์เฟิร์ตในครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ภาคธุรกิจการเงินจากกลุ่มสมาชิกอียูและไอเอ็มเอฟจัดการเจรจาในกรุงดับลิน ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และเจ้าหน้าที่กำกับดูแลตลาดเงิน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าการประชุมของอียูและไอเอ็มเอฟเพื่อหาข้อสรุปการให้ความช่วยเหลือไอร์แลนด์นั้นจะใช้เวลาหลายวัน
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของไอร์แลนด์ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไอร์แลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ยุโรปเริ่มใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542 ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลไอร์แลนด์อาจเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตในเขตมิด-แอตแลนติกของสหรัฐขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 22.5 จุดในเดือนพ.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.0 จุด บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงานตึงตัวในสหรัฐ หลังจากมีรายงานว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการระหว่างว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่แล้วของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 ราย แตะที่ 439,000 ราย ใกล้เคียงที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 440,000 ราย