Xinhua's Interview: นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชี้วิกฤตหนี้ไอร์แลนด์แตกต่างจากกรีซ

ข่าวต่างประเทศ Sunday November 21, 2010 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คาธาล บรูกฮา (Cathal Brugha) นักเศรษฐศาสตร์ชาวไอริชยืนยันว่า วิกฤตหนี้สาธารณะที่ไอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่เหมือนที่เกิดขึ้นกับกรีซ

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไอร์แลนด์ อายุ 10 ปี พุ่งแตะ 9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มใช้สกุลเงินยูโรในปีพ.ศ. 2533 ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า ไอร์แลนด์อาจตามรอยกรีซ และวิกฤตหนี้สาธารณะระลอกใหม่กำลังปรากฏเค้าลาง เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นในยูโรโซน อย่าง สเปน และ โปรตุเกส เคยประสบมาก่อน

อย่างไรก็ดี บรูกฮา ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สคูล ออฟ บิสิเนส ของมหาวิทยาลัยดับลิน กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ถ้าเทียบกับกรีซ ไอร์แลนด์ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป โดยขณะที่เศรษฐกิจกรีซพึ่งพาการท่องเที่ยวและการขนส่งทางเรือนั้น เศรษฐกิจไอร์แลนด์มุ่งเน้นไปที่การบริการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

เขากล่าวว่า "เมื่อการประหยัดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรายได้จากภาษีไม่สามารถนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในภาคสาธารณะได้ จึงนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในกรีซ แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดในไอร์แลนด์"

เขายังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปภาคสาธารณะในกรีซ และประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่า อายุเกษียณในไอร์แลนด์อยู่ที่ 65 ปี แต่ในบางประเทศ อายุเกษียณอยู่ในระดับต่ำที่ 55

บรูกฮายังได้กล่าวถึงวิกฤตในยูโรโซนว่า การจัดตั้งสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ประเทศในยุโรปได้ใช้สกุลเงินร่วมกัน แต่กลับไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังมีความสอดคล้องกัน ซึ่งเขามองว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสกุลเงินยูโรและรักษาเสียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก อียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงได้ตั้งกองทุนมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโรขึ้น เพื่อช่วยประเทศที่ใช้เงินยูโร ถ้าปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศสมาชิกมีความรุนแรงมาก

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแสดงความคิดเห็นถึงการหารือระหว่างรัฐบาลไอร์แลนด์ อียู ไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ โดยเขากล่าวว่า ตามปกติแล้ว ไอเอ็มเอฟจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศที่บริหารจัดการเงินการคลังอย่างไม่เหมาะสม

แต่ในกรณีของไอร์แลนด์นั้น การที่รัฐบาลประกาศปรับลดรายจ่าย 6 พันล้านยูโรในงบประมาณเดือนธ.ค. ถือว่าเพียงพอแล้ว ดังนั้นการที่ไอเอ็มเอฟเข้ามามีส่วนพูดคุยกับรัฐบาลไอร์แลนด์ในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าไอร์แลนด์กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดพันธบัตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ