นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้วางวิสัยทัศน์การดำเนินงานในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)" มุ่งเน้นในเรื่อง “ความหลากหลายของช่องทางสู่บริการอิเล็กทรอนิกส์" โดยกำหนดให้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ การพัฒนาระบบบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาด้านบุคลากร และการพัฒนาด้านกฎหมายด้วย
ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น กระทรวงไอซีทีได้ตั้งเป้าหมายสร้างเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานได้อย่างทั่วถึงและพัฒนาเครือข่ายที่ให้บริการ IP Services ระหว่างหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายภายในหน่วยงาน โดยผลการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ Government Information Network : GIN ในปี 2552-2553 สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค จำนวน 1,004 หน่วยงาน และยังพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายภายในหน่วยงานระดับกรม โดยการปิดช่องโหว่ของเครือข่ายที่ตรวจพบ พร้อมทั้งอบรมหลักสูตรผู้บริหารเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1,014 คน ส่วนในปี 2554 นี้ กระทรวงไอซีทีมีนโยบายที่จะขยายเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 หน่วยงาน
สำหรับการพัฒนาแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Government Interoperability Framework) : TH e-GIF ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดกรอบแนวทางเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เวอร์ชั่น 1.1 และฉบับปรับปรุง เวอร์ชั่น 2 และได้จัดทำคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้มาตรฐาน TH e-GIF โดยมีมาตรฐานข้อมูล 6 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการรายงานผลการให้บริการผู้ป่วยนอก มาตรฐานด้านการวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลผลงานวิจัยจากห้องสมุดทั่วประเทศ มาตรฐานด้านการศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลการติดตามการศึกษาของเด็กนักเรียน มาตรฐานด้านการเกษตรเกี่ยวกับข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ มาตรฐานด้านทะเบียนที่อยู่เกี่ยวกับข้อมูลรายการเลขที่บ้าน และมาตรฐานด้านคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลรถรับจ้างสาธารณะและคนขับรถ
รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนาระบบบริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service กระทรวงฯ ได้พัฒนาระบบเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ หรือ e-Government Portal ขึ้น ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ www.egov.go.th และ www.egovernment.go.th รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบ e-Services ให้กับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 24 บริการ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ ให้กับหน่วยงานภาครัฐอีกจำนวน 12 หน่วยงานด้วย
สำหรับเป้าหมายต่อไปในปี 2555-2556 กระทรวงจะมีการพัฒนาระบบ e-Services ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มขึ้นปีละ 5 บริการ และเพิ่มจำนวนบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Services ที่สามารถให้บริการในลักษณะ Single Sign On ให้ได้ปีละ 5 ระบบบริการเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังจะเพิ่มช่องทางในการให้บริการระบบเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยผลักดันไปสู่ m-Government หรือ Mobile Government ที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผ่านช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่อื่นๆ ในการให้บริการ e-Services และส่งเสริมการใช้งาน e-Government Portal ให้มากยิ่งขึ้น” นายจุติ กล่าว
ขณะที่การพัฒนาด้านบุคลากรนั้น กระทรวงฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2550 - 2552 ได้ฝึกอบรมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ไปแล้วจำนวน 900 คน และผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐระดับกลางอีกจำนวน 1,576 คน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการบริหารและการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในปี 2554 กระทรวงฯ วางเป้าหมายที่จะจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารและการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 5,000 คน
สุดท้าย คือ การพัฒนาด้านกฎหมาย กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันหลายฉบับ อาทิ ร่าง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ร่าง ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เรื่องแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. .... ร่าง ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. และ ร่าง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 33 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เป็นต้น
"หากการพัฒนาตามแนวทางต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้กำหนดไว้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะทำให้การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถสร้างการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น" รมว.ไอซีที กล่าว