กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปช่วงเช้าวันนี้ดูจะแผ่วลงไปสักเล็กน้อย เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกพากันอกสั่นขวัญแขวนเป็นพิเศษกับข่าวที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่ไปตกในน่านน้ำและบนเกาะยอนเปียงของเกาหลีใต้ ทว่าหลายท่านอาจละเรื่องราวดังกล่าวไว้ในฐานที่เข้าใจ เนื่องจากใครๆ ต่างรู้ดีว่าทั้งสองฝ่ายเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน
สถานการณ์ความตึงเครียดในซีกโลกตะวันออกที่ปะทุขึ้นเมื่อวานนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่สายตาของนักลงทุนทั่วโลกได้พุ่งตรงไปยังไอร์แลนด์ เมื่อปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลากลับมาวาดลวดลายอีกครั้ง ทั้งๆ ที่นักลงทุนเพิ่งจะสลัดความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตหนี้สินในกรีซไปได้ยังไม่ทันจะสะเด็ดน้ำดี
ในวันนี้ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ต้องหลบลี้หนีภัยทางการเงิน และเตรียมซ้ำรอยกรีซด้วยการตัดสินใจขอความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเป็นทางการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่ยอดขาดดุลงบประมาณในประเทศปีนี้พุ่งกระฉูดถึง 32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่การลดอันความน่าเชื่อถือโดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ก็ยิ่งเหมือนการซ้ำเติมชะตากรรมที่เลวร้ายของไอร์แลนด์ ด้วยการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวลง 2 ขั้น สู่ระดับ A จากระดับ AA- และลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นลงสู่ระดับ A-1 จากระดับ A-1+ โดยให้แนวโน้มเป็นลบ โดยอ้างว่า การขอความช่วยเหลือด้านการเงินอาจทำให้รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องแบกรับภาระหนี้สินมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เรื่องราวของไอร์แลนด์กลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงิน ก็เพราะว่า เศรษฐกิจของดินแดนแห่งนี้ เคยผงาดขึ้นสู่จุดสูงสุดถึงขนาดที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเองยังแอบอิจฉา ก่อนที่จะมาพบกับจุดตกต่ำเมื่อเผชิญกับปัญหาหนี้สินรุงรังเปรียบได้ดั่งนิทานเรื่องยาว ซึ่งคอลัมน์ In Focus ในวันนี้จะขอกระชับพื้นที่บนหน้าจอของท่าน ถ่ายทอดเรื่องราวของไอร์แลนด์ให้ได้รับรู้กันมากขึ้น
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...
มีดินแดนแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ใน 6 ส่วนของเกาะไอร์แลนด์ ณ จุดหมายอันไกลโพ้นจนสุดฟากฝั่งตะวันตกของสหภาพยุโรป ดินแดนแห่งนี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนเองให้ก้าวกระโดดขึ้นมาจนได้รับสมญานามว่าเป็น "เสือเศรษฐกิจแห่งเซลติก" (The Celtic Tiger) และที่นี่มีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐไอร์แลนด์" (Republic of Ireland)
ไอร์แลนด์ ก้าวขึ้นเป็นดาวเด่นบนดินแดนยุโรปในฐานะ "ซิลิคอนวัลเลย์" แห่งที่สองของโลก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 90 เนื่องจากประเทศนี้ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกระเป๋าเจ้าพ่อวงการชิปอย่างอินเทล (Intel) ผู้ผลิตพีซียักษ์ใหญ่อย่างเดลล์ (Dell) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ต่างพาเหรดมาปักธงลงทุนในไอร์แลนด์ ท่ามกลางแรงจูงใจของมาตรการลดภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax) ที่ต่ำที่สุดในยุโรปเพียง 12.5%
ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญข้างต้นถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ไอร์แลนด์เร่งฝีเท้าและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่อยู่ในระดับ 6-10% เป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำเพียง 4% ส่งผลให้ชาวบ้านร้านตลาดกินดีอยู่ดี โดยอัตราจีดีพีต่อหัวในปี 2549 สูงติดอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Human Development Index: HDI) ทะยานขึ้นไปติดที่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของไอร์แลนด์ที่ดูดีแบบไม่มีที่ติ
กาลกลับตาลปัตร...
เมื่อเจ้า "เสือไอริช" ค่อยๆ สิ้นลายกลายเป็นแมวเหมียวในปี 2551 จากฤทธิ์ของ "แฮมเบอร์เกอร์เน่า" ของสหรัฐ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจบางกลุ่มที่เริ่มมีอาการเจ็บออดๆ แอดๆ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมบางแห่งอ่อนแอลงอย่างหนัก จนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ
ผู้สันทัดกรณีในตลาดเงินต่างพากันวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับไอร์แลนด์ โดยระบุถึงสาเหตุของอาการข้างต้นว่า เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่เบ่งบานจนภาคเอกชนย่ามใจ ประกอบกับความทะเยอทะยานและหลงใหลในอำนาจทางเศรษฐกิจที่หอมหวานจนทำให้ "ความโลภ" เข้าครอบงำ และทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศสบโอกาสขยายธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างชนิดที่เรียกว่า "ทุ่มสุดตัว" ก่อนที่จะพบกับความ "สิ้นเนื้อประดาตัว" ในภายหลัง
ในขณะนั้นราคาอสังหาริมทรัพย์ของไอร์แลนด์ปรับตัวลดลง 36% ส่งผลให้เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์แทบล้มทั้งยืน ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 14% และหลายครอบครัวไม่สามารถใช้หนี้ที่มีอยู่ได้ต่อให้ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตก็ตาม จนกระทั่งรัฐบาลไอร์แลนด์ตัดสินใจ "โอนหนี้เอกชนมาเป็นของรัฐบาล" ด้วยการนำงบประมาณกลางเข้าประคบประหงมภาคธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤต และเหตุการณ์ในครั้งนั้นเองได้ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์ทั้งระบบดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากที่เคยเป็น "เสือนอนกิน" มายาวนานหลายสิบปี ในวันนี้เสียงคำรามแสดงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเสือไอริชค่อยๆ เบาลงจนแทบจะกลายเป็นเสียงร้องเหมียวๆ ของลูกแมวที่หิวโซ เมื่อดินแดนที่เคยได้รับการยกย่องว่าร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของยุโรป กลายเป็นประเทศที่ขาดดุลงบประมาณมากที่สุดไปโดยปริยาย
ไอเอ็มเอฟ - อียู...พระเอกขี่ม้าขาว วีรบุรุษผู้กอบกู้วิกฤตไอร์แลนด์
ในขณะที่เรี่ยวแรงของเสือไอริชเริ่มอ่อนล้า เสียงฝีเท้าของม้าที่ควบตะบันมาจากแดนไกลก็เริ่มส่งเสียงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไอเอ็มเอฟและอียู ต่างยินยอมพร้อมใจกันขี่ม้าขาวเข้าหาไอร์แลนด์ในมาด "พระเอก" เพื่อหยิบยื่นข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เว้นเสียแต่ว่า ก่อนหน้านี้เจ้าเสือยังทะนงในศักดิ์ศรีด้วยเชื่อมั่นว่า ตนจะสามารถอุดช่องโหว่ของเงินที่รั่วไหลออกไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยจมูกใครหายใจทั้งนั้น
แต่จนแล้วจนรอด เจ้าเสือที่ยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่รับความช่วยเหลือในตอนแรก กลับต้องแหงนหน้ากลืนน้ำลายตัวเอง พร้อมกับทิ้งลวดลายและศักดิ์ศรีที่ค้ำคอออกไปเพื่อขอรับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า อียูและไอเอ็มเอฟจะใช้เงินอัดฉีดสูงถึง 8 — 9 หมื่นล้านยูโร เพื่อพยุงภาคธุรกิจธนาคารที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ไบรอัน โคเวน นายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์ยอมรับว่า รัฐบาลได้ร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินไปยังอียู ขณะที่นายเบรน เลนิฮาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไอร์แลนด์แถลงว่า ไอร์แลนด์จะยอมรับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูและไอเอ็มเอฟ เนื่องจากปัญหาในภาคธนาคารของไอร์แลนด์ใหญ่เกินกว่าที่ไอร์แลนด์จะรับมือได้เพียงลำพัง และประเด็นสำคัญ คือ รัฐบาลต้องการทำให้แน่ใจว่า ภาคการเงินของไอร์แลนด์จะไม่ล่มสลายอย่างที่ใครต่อใครพากันวิตกกังวล
ด้านโดมินิก สเตราส์ คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ออกโรงเตือนว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปยังเดินมาไม่ถึงจุดสิ้นสุด ตราบใดที่ยุโรปยังคงแขวนเศรษฐกิจของประเทศไว้กับการเติบโตของภาคธนาคารและการเงิน ซึ่งหลักฐานประกอบคำพูดนี้ได้ปรากฏให้เห็นในรูปของวิกฤตหนี้ที่เกิดกับกรีซและไอร์แลนด์ ซึ่งนำพาให้ทั้งสองดินแดนพบกับจุดจบทางการเงินในสภาพเดียวกัน
ก้าวต่อไป...ของไอร์แลนด์
ในขณะที่มรสุมการเงินในไอร์แลนด์กำลังสั่นคลอนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายไบรอัน โคเวนอยู่นั้น ขุนคลังของไอร์แลนด์ได้ประกาศมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดนี้สินเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 6.15 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งก็มีทีท่าว่า อียูและไอเอ็มเอฟจะแสดงท่าทีพอใจ และไม่ถือวิสาสะแก้ไขรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม โคเวน ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าชายในนิทานอีสป ผู้ปกครองอาณาจักรไอร์แลนด์ส่งสัญญาณว่า ตนอาจสละบัลลังก์บริหารประเทศ ด้วยการยุบสภา หลังจากที่งบประมาณการใช้จ่ายในมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ผ่านการพิจารณาอนุมัติสำหรับบังคับใช้ในปีหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะมอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจว่า ใครคือผู้ที่คู่ควรจะได้เข้ามาสืบทอดบัลลังก์ในช่วงที่ไอร์แลนด์ต้องเผชิญกับความท้าทายในการลดยอดขาดดุลงบประมาณ การปรับโครงสร้างภาคการเงิน-การธนาคารตามแผนยุทธศาสตร์ด้านงบประมาณระยะ 4 ปีต่อไป
สำหรับเงินทุนอัดฉีดที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือไอร์แลนด์ในครั้งนี้คาดว่า จะมาจากกองทุนกลไกสร้างเสถียรภาพการเงินของยุโรป (EFSM) และเงินช่วยเหลือจากสำนักงานกำกับเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยกลุ่มยูโรโซนและไอเอ็มเอฟ เพื่อป้องกันมิให้วิกฤตหนี้สาธารณะลุกลามไปทั่วยุโรป ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความหวังว่า เงินทุนก้อนนี้จะช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับเจ้าเสือไอริช ที่เคยเริงร่ากับเศรษฐกิจที่เบ่งบาน ก่อนที่จะหมดแรงท่ามกลางเศรษฐกิจที่โรยรา จากรากเหง้าของปัญหาทางการเงิน
สุดท้ายนี้...นิทาน (จากเรื่องจริงของไอร์แลนด์) เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "โลภมาก...ลาภหาย" เพราะเมื่อเสือไอริชโลภมากเกินไป ความเสียหายใหญ่หลวงในไอร์แลนด์จึงเกิดขึ้นตามมา ขณะที่ทั่วโลกยังเฝ้าดูอย่างไม่กระพริบตาว่า เจ้าเสือเศรษฐกิจตัวนี้จะลุกขึ้นมาส่งเสียงคำรามอย่างน่าเกรงขามได้อีกหรือไม่