นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง "พลิกฟื้นประเทศไทยเพื่ออนาคต" ในงานสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 54 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความขัดแย้ง" ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทางทรัพยากรและศักยภาพในหลายด้าน แต่ยังขาดการพัฒนาจนทำให้หลายประเทศแซงหน้าประเทศไทย
ทั้งนี้พบว่าไทยยังเสียเปรียบหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทยยังเสียเปรียบอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา และใช้ประโยชน์ในหลายโอกาสจากเวทีโลก, ส่วนเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศผู้ให้ในโลก มีระบบเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของโลก มีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้านมาเลเซีย มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) สูงกว่าไทยถึง 2 เท่า และสร้างโมเดลเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่เวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO) โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกลายเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงจนสามารถเลื่อนลำดับประเทศที่น่าลงทุนดีขึ้นถึง 15 อันดับภายใน 1 ปี ขณะที่ประเทศไทยกลับไม่ติดอันดับ 1 ใน 25 ประเทศที่น่าลงทุน
นายสมคิด ระบุว่า ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรม โดยที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ เพราะจะเห็นได้ว่าระบบชลประทาน เช่น การสร้างเขื่อนที่อยู่ในโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กท์กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
"ต่างประเทศรู้จักใช้ในสิ่งที่ไทยมีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์ แต่ไทยกลับพอใจกับคำว่าเกษตรกรรม แต่ไม่ขวนขวายใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม" นายสมคิด ระบุ
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีนั้นมาจากแรงขับเคลื่อนหลักของภาคการส่งออก และ 60% ของการส่งออกของไทยเป็นการส่งออกไปในประเทศแถบเอเชีย ดังนั้นหากเศรษฐกิจเอเชียเติบโตมากขึ้นจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อไทยมาก แต่ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะมีการพัฒนาหรือไม่
นายสมคิด มองว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ประกาศใช้นโยบาย QE รอบ 2 แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ซึ่งในที่สุดจะทำให้มีเงินไหลเข้ามาในเอเชียมาก ซึ่งปัญหาเงินทุนไหลเข้าที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นการดูแลค่าเงินด้วยวิธีการแทรกแซงเป็นสิ่งที่ผิด แต่ควรดูแลเงินทุนที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรมากกว่า
ส่วนความเข้มข้นของมาตรการที่จะนำมาใช้นั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยไม่ต้องห่วงต่างชาติหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เพราะที่ผ่านมาจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ไทยได้รับบทเรียนมามากพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม การดูแลค่าเงินจะต้องคำนึงถึงผู้ส่งออกด้วย ไม่ควรมุ่งแต่จะให้ผู้ส่งออกปรับตัว เพราะค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น การจะให้ผู้ส่งออกปรับตัวภายในเวลา 1 ปีคงทำไม่ได้ นอกจากนี้ควรเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า, การใช้นวัตกรรม, Creative Economy ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แล้ว
"ไทยควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ หากปล่อยไว้นานจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะในอนาคตอาเซียนจะไม่มีพรมแดน ผู้ประกอบการไทยจะต้องหันไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการน้อยมากที่พร้อมและสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้" นายสมคิด กล่าว
ขณะเดียวกัน เห็นว่ารัฐบาลควรจัดงบประมาณให้สอดรับกับการพัฒนาการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อสังคมและการสร้างโอกาส แต่ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินมีสัดส่วนงบลงทุนไว้เพียง 16% เท่านั้น ขณะที่กระทรวงการคลังยังต้องวางแผนขยายฐานภาษีเพื่อสร้างรายได้ มีการปฏิรูปการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ควรทบทวนการส่งเสริมการลงทุนด้วย
นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการแข่งขันแต่ต้องมีความพร้อมและตั้งใจรวมถึงสร้างจิตสำนึก แต่ที่ผ่านมาไทยกลับไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งกันภายในประเทศ ดังนั้นมองว่ายังไม่สายที่ไทยจะกลับมาพัฒนาตนเอง ตั้งสติให้ทุกคนใจเย็นและเริ่มต้นสร้างบ้านเมืองกันใหม่ อย่ามัวแต่มีความขัดแย้งกันอยู่