นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย สำหรับมาตรการนี้มีผลครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และจะครอบคลุมถึงพื้นที่ที่จะเกิดอุทกภัยในอนาคตด้วย
ทั้งนี้จะต้องยื่นขอนำเข้าเครื่องจักรทดแทนภายในวันที่ 31 ธ.ค.54 หากโครงการเดิมยังไม่สิ้นสุดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรจะให้นำเข้าเครื่องจักรทดแทนภายในระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรที่มีอยู่เดิม โดยให้สำนักงานพิจารณาให้ขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรทดแทนได้ตามความเหมาะสม แต่หากโครงการเดิมสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรแล้ว จะให้ได้รับการขยายเวลานำเข้าเครื่องจักร โดยกำหนดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรทดแทนตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิฯ และสิ้นสุดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรภายใน 2 ปีนับแต่วันที่อนุมัติ
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมในนครราชสีมา 1 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ขณะที่อีก 9 บริษัท ได้รับผลกระทบโดยไม่สามารถผลิตได้ตามแผนงานที่กำหนด เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้
ส่วนจังหวัดสระบุรี มี 3 บริษัทได้รับผลกระทบโดยเครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ได้รับความเสียหาย ขณะที่จังหวัดปราจีนบุรีไม่มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ส่วนจังหวัดลพบุรี อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล
นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการนำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น หรือขยายกำลังการผลิต
ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ซึ่งกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ จะต้องเป็นกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้ว และอยู่ในข่ายให้การส่งเสริมได้ ที่สำคัญต้องเสนอแผนลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิมได้ และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธ.ค.54
2.ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่อนผันให้กิจการ SMEs ที่ลงทุนไม่เกิน 80 ล้านบาท สามารถรับสิทธิประโยชน์การลงทุนได้ จากเดิมที่กำหนดให้ SMEs ที่ลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของเอสเอ็มอีหลายอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงในช่วงที่ผ่านมา
3.การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการที่ประกอบการอยู่เดิมให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36(1 ) และ( 2 ) ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลเฉพาะที่ใช้ในการส่งออก และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป ปัจจุบันครอบคลุม 4 กลุ่มอุตสาหกรรม (ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า) ให้เพิ่มอุตสาหกรรมอีก 10 กลุ่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่ง สิ่งทอ ของเด็กเล่น เครื่องกีฬา อัญมณีและเครื่องประดับ เลนส์ สิ่งพิมพ์ โดยจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธ.ค.54