นายกฯ เผย"ศก.-การเมือง"คือความท้าทายในปี 54 แต่มั่นใจไทยจะผ่านพ้นไปได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐถาพิเศษหัวข้อ "พลิกความท้าทายสู่โอกาส ประเทศไทย 2554" โดยมองว่า ความท้าทายที่สำคัญในปีหน้ามี 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงในปีหน้าจะต้องมองไปถึงโครงสร้างค่านิยมและกรอบความคิดในการปฏิบัติ

ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยถือว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกันหรือแม้แต่ในระดับโลก ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้จีดีพีจะเติบโตได้ราว 8% อัตราการว่างงานที่ 1% เงินเฟ้อ 3% และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ประมาณ 40% ต้นๆ สำหรับความท้าทายในด้านเศรษฐกิจของไทยนั้นมีสิ่งที่จะต้องพิสูจน์ในหลายเรื่อง คือ การเพิ่มความเข้มแข็งเรื่องการดูแลวินัยทางการเงินการคลัง เนื่องจากขณะนี้ยังมีนักเก็งกำไรพยายามเข้ามาในประเทศ แต่ขณะเดียวกันเราจะต้องดูแลไม่ให้การเข้ามาเก็งกำไรนั้นส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในอนาคต

ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในกรณีการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร และการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องเร่งนำเข้าเครื่องจักรในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการผลิตไปในตัว

พร้อมกันนี้ ไทยต้องเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเร่งกำลังซื้อในประเทศ และจากแผนงานที่รัฐบาลได้วางไว้คือ การเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.54 รวมทั้งมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเห็นว่าการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจจากนี้ไป จะต้องไม่ใช่รูปแบบของการกดค่าแรงแล้วไปให้ความสำคัญกับด้านการส่งออกอีกแล้ว

"ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขึ้นเพียง 2-3 บาท แต่นโยบายรัฐบาลปีนี้จำเป็นต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าที่ทำมาในช่วง 1-2 ปี ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องการจะให้เป็นตัวเลข 2 หลักในระดับ 10-11 บาท" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความท้าทายด้านเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลจะเน้นการวางกลไกด้านการตลาด ด้วยการสร้างความเข้มแข็งภายในประชาคมอาเซียน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับตลาดโลก อีกทั้งจะมีการจัดทำหลักประกันความมั่นคง โดยเน้นระบบสวัสดิการสังคมที่อาจต้องใช้เวลาในจุดนี้ไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี

ขณะที่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมนั้น มองว่าจากกรณีปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างกติกาใหม่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการสร้างกติกาที่สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจว่าในปีหน้าพื้นที่มาบตาพุดจะติดตั้งจุดวัดมลพิษที่เป็นระบบเรียลไทม์ให้ได้ 12 จุด รวมถึงการสร้างแนวป้องกันระหว่างชุมชนกับเขตมลพิษให้ได้ 46 จุด พร้อมระบุว่า หากประเภทใดที่ถือว่าเป็นกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ให้มีการขยายกิจการออกไปอีกจนกว่าจะมีการตัดสินที่ชัดเจน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากจะพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคอื่นๆได้ หากยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจหรือการอยู่ร่วมกันกับภาคประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดได้ อีกทั้งประเทศไทยไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทุกอุตสาหกรรมในประเทศ

สำหรับความท้าทายด้านการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ความขัดแย้งทางสังคมในขณะนี้ยังมีอยู่สูง แต่สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจจะดำเนินการคือ การให้ปัญหาความขัดแย้งกลับไปสู่ 2 กระบวนการหลัก โดยผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรม ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ความตั้งใจจริงที่ดำเนินการตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาก็เพื่อต้องการให้ปัญหาและข้อถกเถียงในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาสู่กระบวนการรัฐสภา และไม่ค่อยปล่อยปัญหานี้ทิ้งค้างไว้ต่อไป

โดยความท้าทายในด้านการเมืองสำหรับปีหน้า คือต้องการเห็นการเลือกตั้งที่ทุกคนต่างยอมรับในกติกา เลือกตั้งด้วยความสงบเรียบร้อย และอยากเห็นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องในขณะนี้เข้ามามีส่วนช่วยทำให้บรรยากาศบ้านเมืองเกิดความสงบ เพราะต้องการให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในระบบและขั้นตอนของรัฐสภา

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมสมาธิสั้น เพราะทุกวันนี้ทุกคนมักให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยไม่มองย้อนที่มาในอดีตว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้เชื่อว่าสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขได้ เพราะหากสื่อให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษก็จะทำให้คนสนใจสิ่งนั้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นสิ่งที่ท้าทายเหล่านี้ไปได้ และจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ