นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้เป็นไปตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของโลก ซึ่งไม่สามารถสวนกระแสได้ ทำได้แค่ระดับหนึ่งคือการลดความผันผวนระยะสั้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้ทัน
ทั้งนี้ หากค่าเงินเปลี่ยนแปลงไม่มาก เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนไม่สูงมากนัก แต่หากเปลี่ยนแปลงเร็วมีความผันผวนมาก ก็จะทำให้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ มีต้นทุนมาก ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่า ธปท.มีเครื่องมือเพียงพอในการรับมือและจะเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสม สำคัญที่สุดเครื่องมือต้องมีความหลากหลาย ยิ่งถ้าหากเครื่องมือมีความยืดหยุ่นด้วยก็ถือเป็นเรื่องดี
สำหรับกรณีที่มีผู้ประเมินค่าเงินบาทในปีหน้าที่ 26-27 บาท/ดอลลาร์เป็นแค่ความเห็นและการประเมินในอนาคต แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด แต่ละคนก็มีความเห็นกันได้ ผู้ประกอบการที่เห็นความเสี่ยงก็ต้องเร่งปรับตัว แต่ก็มองว่าการส่งออกปีหน้าคงจะชะลอตัวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกจะเติบโตเหลือ 11-14% ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากฐานในปีนี้ค่อนข้างสูงด้วย
กลุ่มเอเชียต่อจากนี้ไปควรจะต้องพึ่งพาการผลิตและการค้าขายกันเอง เพราะเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักกว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักทำให้เศรษฐกิจเอเชียก้าวขึ้นมาอย่างโดดเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าเอเชีย รวมทั้งไทย เนื่องจากนักลงทุนไม่มีทางเลือก และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งจากนี้ไปเงินจะยังไหลเข้าต่อเนื่อง เหล่านี้จะกระทบกับอสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร และตลาดหุ้น อาจจะเกิดความไม่สมดุลและเกิดฟองสบู่ได้ เราจึงต้องระมัดระวัง
นายประสาร กล่าวว่า ธปท.ยืนยันการใช้นโยบาย Macro Potential ในการรักษาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ ธปท.ต้องรักษาเอาไว้ นอกจากนั้น การใช้กรอบนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ นอกจากจะใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังทำให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความยืดหยุ่นได้ นอกจากนั้นกรอบนโยบายการเงินยังจะมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน
ขณะที่รัฐบาลควรจะเน้นการลดบทบาทการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจลง เพื่อลดการกระตุ้นอุปสงค์ หันมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ เพื่อไปกระตุ้นในด้านอุปทาน แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องสอดคล้องกับความต้องการภาคเอกชน และกระจายไปทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะทำแผนพัฒนาประเทศร่วมกับเอกชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน