Analysis: นักวิเคราะห์ชี้มาตรการรัดเข็มขัดของไอร์แลนด์ไม่แกร่งพอยับยั้งวิกฤตหนี้ลุกลามยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Friday November 26, 2010 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้รัฐบาลไอร์แลนด์ประกาศมาตรการรัดเข็มขัดระยะเวลา 4 ปีเมื่อวานนี้ เพื่อปกป้องประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะ แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าวิกฤตหนี้ดังกล่าวอาจจะลุกลามไปในกลุ่มยูโรโซน

ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันแม้รัฐบาลไอร์แลนด์ประกาศมาตรการรัดเข็มขัด โดยในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราลอนดอนเมื่อคืนนี้ ค่าเงินยูโรทรงตัว หลังจากดิ่งลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1.3284 ดอลลาร์ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันพุธ

นักวิเคราะห์ยังคงคาดว่า ค่าเงินยูโรจะดิ่งลงไปทดสอบระดับ 1.3232 ดอลลาร์ในระยะใกล้นี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่า โปรตุเกสและสเปนอาจตามรอยกรีซและไอร์แลนด์ ด้วยการขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

รัฐบาลไอร์แลนด์เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเมื่อวานนี้ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดยอดขาดดุลงบประมาณให้อยู่ต่ำกว่าระดับ 3% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2557 โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถานะการเงินของไอร์แลนด์ และเพื่อให้อียูและไอเอ็มเอฟอนุมัติเงินช่วยเหลือ

มาตรการรัดเข็มขัดของไอร์แลนด์ระบุถึงการลดยอดขาดดุลงบประมาณลง 1.5 หมื่นล้านยูโร (2.0 หมื่นล้านดอลลาร์) จากปี 2554 - 2557 ด้วยการลดตัวเลขการใช้จ่ายภาคสาธารณะมูลค่า 1.0 หมื่นล้านยูโร (1.33 หมื่นล้านดอลลาร์) และขึ้นภาษีเป็นวงเงินรวม 5.0 พันล้านยูโร (6.7 พันล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังระบุถึงการลดงบประมาณการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม เช่น ลดเงินบำเน็จบำนาญ และลดค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนของพนักงานในภาครัฐ พร้อมทั้งประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 23% ภายในปี 2557 จากระดับปัจจุบันที่ 21% แต่ภาษีรายได้นิติบุคคลยังคงอยู่ที่ระดับเดิม

ไบรอัน โคเวน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศนั้น ได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยอมเสียสละ โดยกล่าวว่า "วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้ประเทศของเราฟื้นตัวขึ้นได้"

ทั้งนี้ ไอร์แลนด์ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับอียูและไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับแผนการให้ความช่วยเหลือ โดยมีการประมาณการว่า วงเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าราว 8.5 หมื่นล้านยูโร (1.13 แสนล้านดอลลาร์)

นายโอลลี เรห์น กรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจและการเงินของยุโรปกล่าวว่า มาตรการรัดเข็มขัดของไอร์แลนด์เป็นผลดีต่อการเจรจาเรื่องความช่วยเหลือ และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินของไอร์แลนด์

แต่มาตรการดังกล่าวกลับถูกวิพากษ์วิจารย์จากนักวิเคราะห์ โดยชาฮิน วอลลี นักวิเคราะห์และนักยุทธศาสตร์การเงินจากธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลไอร์แลนด์ "ไม่ได้สร้างความรู้สึกประหลาดใจ" และไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ในปัจจุบันได้

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างขึ้นจากมุมมองที่เป็นบวกมากเกินไปต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไอร์แลนด์คาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะขยายตัวโดยเฉลี่ย 2.75% ต่อปีในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า ไอร์แลนด์จะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะและมาตรการรัดเข็มขัด

ในขณะที่ไอร์แลนด์กำลังดิ้นรนให้หลุดพ้นจากวิกฤตนั้น ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจว่าประเทศใดจะเป็นเหยื่อวิกฤตหนี้สาธารณะรายต่อไป ซึ่งประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ โปรตุเกสและไอร์แลนด์

ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลโปรตุเกสและไอร์แลนด์พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาหนี้ของไอร์แลนด์ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งทำให้คณะกรรมการอียูวิตกกังวลว่ามาตรการรัดเข็มขัดของไอร์แลนด์จะไม่สามารถยับยั้งวิกฤตหนี้สาธารณะให้ลุกลามในยุโรปได้

ความเป็นไปได้ที่ปัญหาหนี้สาธารณะจะลุกลามยุโรปได้ก่อให้เกิดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวอนาคตของสกุลเงินยูโร แต่นายคลอส เร็กลิง ผู้อำนวยกองทุนให้ความช่วยเหลือของอียูกล่าวว่า สกุลเงินยูโรไม่มีแนวโน้มที่จะล่มสลาย ถึงแม้ประเทศอื่นๆเช่นโปรตุเกส จะเดินตามรอยกรีซและไอร์แลนด์ด้วยการขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟก็ตาม

"โอกาสที่เงินยูโรจะล่มสลายเป็นศูนย์ และเชื่อว่าไม่มีประเทศใดในกลุ่มยูโรโซนจะยกเลิกการใช้เงินยูโร" เร็กลิงกล่าวแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ Bild ของเยอรมนี

ทั้งนี้ หลังจากเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในประเทศกรีซแล้ว อียูได้ร่วมมือกับไอเอ็มเอฟ จัดตั้งกองทุนมูลค่า 7.50 แสนล้านยูโร (9.99 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆในกลุ่มยูโรโซนที่มีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกับกรีซ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ