สศค.คาด GDP ไตรมาส 4/53 ชะลอลงเหลือ 2-3% ทั้งปีโต 7.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในไตรมาส 4/53 จะอยู่ในช่วง 2-3% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง รวมทั้งผลกระทบจากภาวะเงินบาทแข็งค่าที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวลงเช่นกัน

ส่วนทั้งปี 53 สศค.ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อจีดีพีในปีนี้ แบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้ กรณีแรก ผลกระทบระดับต่ำ ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 0.1% ผลกระทบระดับกลาง ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 0.2% และผลกระทบระดับสูง ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 0.3%

อย่างไรก็ดี มองว่าปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลกระทบชั่วคราวเฉพาะกับจีดีพีในไตรมาส 4/53 นี้เท่านั้น โดยจะไม่กระทบในระยะยาว ซึ่งหากรวมผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว สศค.ยังคาดว่าจีดีพีปี 53 จะยังขยายตัวอยู่ที่ 7.5%

ส่วนสถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น หากในไตรมาส 4/53 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์ ก็จะส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.1% แต่ถ้าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.00 บาท/ดอลลาร์ ก็จะส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.2% อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเงินบาทได้กลับมาอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาวะเงินบาทแข็งค่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพีเท่าใดนัก

นายพิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการเห็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นตัวเลข 2 หลัก คือในระดับ 10-11 บาทนั้น สศค.ประเมินว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำอาจมีส่วนทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นรวมทั้งมีผลต่อจีดีพีด้วยเช่นกัน โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1% จะมีผลกระทบต่อจีดีพี 0.04% ดังนั้นหากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 10 บาท ก็จะมีผลกระทบต่อจีดีพีราว 0.2%

ส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น เชื่อว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่มาจากเรื่องของสินค้าทุนมากกว่าค่าแรงงาน นอกจากนี้แม้การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานอาจจะจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีอยู่บ้าง แต่ในอีกมุมหนึ่งจะเป็นการช่วยให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

"เป้าหมายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย เพราะฉะนั้นน่าจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น แต่ในแง่การลงทุนอาจจะลดลง มีการนำเข้าเพิ่มเพราะคนมีรายได้เพิ่ม" นายพิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ