นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ว่า คณะทำงานฯ อยู่ระหว่างการจัดทำเอ็มโอยูความร่วมมือการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 620 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อรถไฟไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) และสาธารณรัฐประชาชนจีน คาดว่าจะสรุปรายละเอียดของเอ็มโอยูได้ภายในเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่ประเทศจีนก็จะจัดทำเอ็มโอยูและนำมาเจรจากับไทย เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อนที่จะลงนามในเดือนมี.ค.54
สำหรับสาระสำคัญของเอ็มโอยู ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก คือ 1. การกำหนดด้านเทคนิค ซึ่งจะมีกรอบว่าจะก่อสร้างรถไฟรูปแบบใด ใช้เชื้อเพลิงอะไร จำนวนสถานีเท่าใด รวมทั้งการกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน เบื้องต้นจะเป็นรถไฟความเร็วสูงแบบรางเดียวขนาดรางมาตรฐานเหมือนในสปป.ลาว เพราะจะได้เชื่อมต่อกันได้สะดวก โดยแนวเส้นทางจะใช้เขตทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเวนคืนที่ดิน
2.การกำหนดรูปแบบการลงทุน ซึ่งจะร่วมถึงรูปแบบการลงทุนของงานก่อสร้างและการเดินรถ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณา เบื้องต้นคาดสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-จีน อยู่ที่ 50 ต่อ 50 เพราะหากไทยลงทุนมากกว่านี้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ ขณะที่จีนก็คงไม่ยอมที่จะลงทุนในสัดส่วนเดียวกับที่ลงทุนในสปป.ลาว คือ 70 ต่อ 30
"ตามขั้นตอนการดำเนินงานนั้น เมื่อลงนามเอ็มโอยูในเดือนมี.ค.54 ก็จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ออกแบบรายละเอียด และก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 58 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.26-1.44 แสนล้านบาท" นายสุพจน์ กล่าว