นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า จากปริมาณสำรองไฟฟ้าที่คาดว่าจะลดลง โดยในปี 2557 ประมาณการณ์สำรองไฟฟ้าจะเหลือเพียงร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าต่ำมาก กฟผ.จึงต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วขึ้น คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 โรงไฟฟ้าจะนะ 2 และโรงไฟฟ้าวังน้อย 4 ใช้เงินลงทุนโรงละประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งขยายระบบสายส่งเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุน 4 — 5 ปี
นอกจากนี้ เตรียมหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ในเรื่องรูปแบบว่าจะเป็นแบบไหน มีสัดส่วนเท่าไหร่ สำหรับกองทุนดังกล่าว จะช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศ และในทางกลับกันจะทำให้ภาระต้นทุนของ กฟผ.ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ กฟผ.เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเร็วขึ้น เนื่องจากกังวลว่าตัวเลขสำรองไฟฟ้าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะลดลง โดยในปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 9 แต่หาก กฟผ.สามารถดำเนินการได้ตามแผน จะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในปี 2557 และร้อยละ 20 ในปี 2558