สกพ.เชื่อแม้ GLOW ต้องทำ HIA แต่มั่นใจส่งไฟฟ้าเข้าระบบทันปลายปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2010 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) ทั้ง 4 โรง มีเพียงโรงไฟฟ้าของกลุ่มโกลว์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียงแห่งเดียวที่แม้จะต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)เพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่ทางโกลว์มั่นใจว่าจะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาในปลายปี 54 ส่วนอีก 3 โรงไฟฟ้าคาดว่าจะล่าช้ากว่าแผนทั้งหมด

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากระบบโคเจนเนอเรชั่นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีกำหนดว่าจะรับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์ ในขณะนี้จะต้องรอมติ กพช.ที่จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนว่าจะให้รับซื้อไฟฟ้าจากที่เอกชนเสนอมาแล้วทันทีเลยหรือไม่ ในขณะเดียวกันในส่วนของการกำหนดค่าสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)นั้น กกพ.อยู่ในระหว่างการพิจารณารายละเอียดและรวบรวมต้นทุนของ บมจ.ปตท.(PTT)ที่เป็นผู้ลงทุนและนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งจะต้องกำหนดแล้วเสร็จก่อนการนำเข้าและเปิดจำหน่ายในปี 2554

นายกวิน กล่าวด้วยว่า กกพ.ได้จับฉลากพ้นวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับกิจการพลังงานหลังจากดำเนินการมาจรจะครบกำหนดวาระ 3 ปีในวันที่ 1 ก.พ.54 จำนวน 3 คน จากกรรมการทั้งหมด 7 คน โดยผลบุคคลที่พ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ นายชลิต เรืองวิเศษ, นายจงเจตน์ บุญเกิด และนายศุภิชัย ตั้งใจตรง

ขั้นตอนจากนี้ไปจะมีคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งจะเปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปีในสาขาพลังงาน, คณิตศาสตร์, นิติศาสตร์, วิทยาศาสตร์, วิศวกรรม, เศรษฐศาสตร์, การเงิน, การบัญชี,ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การคุ้มครองผู้บริโภค หรือในสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการพลังงาน โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการสรรหา 4 เดือน

วันนี้ 74 เครือข่ายกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกกพ. เพื่อคัดค้านร่างระเบียบกองทุนที่ทางกกพ.ได้มีมติปรับปรุงใหม่ โดยไม่ได้นำความคิดเห็นจากการทำประชาพิจารณ์มากำหนดในร่างดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ตรงกับเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เช่น ตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองทุน ที่ กกพ.กำหนดว่าทางภาครัฐจะเป็นผู้แต่งตั้งในขณะที่เจตนารมย์ของร่างระเบียบกองทุน ต้องการให้ประธานมาจากการเลือกตั้งของภาคส่วนต่างๆ

โดยในประเด็นนี้ ทางเครือข่ายฯ มองว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่การฟ้องร้องภายหลัง และยังเห็นว่าอำนาจการบริหารงานอาจไม่เกิดจากท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท โดยจัดเก็บจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า และมีเป้าหมายจะนำไปพัฒนาท้องถิ่นของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ