สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่ง 3 นครพนม-คำม่วน คืบหน้า 60% คาดแล้วเสร็จปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2010 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)ว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้ว 60% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาในปี 54

โครงการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยและลาวมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การเดินทางสัญจรระหว่างประชาชน และสนับสนุนให้ประเทศลาวเป็นจุดเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างไทย-ลาว และอนุภูมิภาคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันโครงการความร่วมมือในสาขาดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างถนน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน และโครงการก่อสร้างทางรถไฟมีความคืบหน้าเป็นลำดับ

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวได้ริเริ่มและเห็นชอบร่วมกันในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย — ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.47 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตกลงสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งหมด โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 30 เดือน ซึ่งได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552

สถานที่ตั้งสะพานในฝั่งไทยอยู่ที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม และฝั่งลาวอยู่ที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ความยาวของสะพานรวม 1,423.1 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 9.50 เมตร และทางเท้ากว้างข้างละ 1.05 เมตร รวมวงเงินก่อสร้าง 1,760 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3(นครพนม-คำม่วน) เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway) ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับลาว และสามารถเชื่อมกับภาคกลางของเวียดนามตอนกลาง อันจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว และในอนุภูมิภาค

รวมทั้งเอื้ออำนวยต่อการขยายความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion - GMS) อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สู่ประชาชนไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ