ก.เกษตรฯถกอาเซียนเตรียมมาตรการรับมือโลกร้อนในภาคการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุม Agricultural Policy Seminar: Identification of Climate Change Adaptation and Mitigation Measures in Agriculture Sector in ASEAN ครั้งที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศมาเลเซีย วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการด้านการเกษตรสำหรับการปรับตัวและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตรภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเสนอแนวทางความร่วมมือในการการดำเนินกิจกรรมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภายใต้กรอบการดำเนินงานความร่วมมือระดับภูมิภาค

การประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากญี่ปุ่นและมาเลเซีย รวมถึงผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) พบว่า ทุกประเทศรวมทั้งไทย ได้มีการกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการทั้งในระดับชาติและเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อรองรับสภาวะโลกร้อนไว้แล้ว อีกทั้งยังพบว่ามีพัฒนาการของการเกิดภัยพิบัติทางการเกษตรซึ่งย้ายข้ามถิ่นและรุนแรงขึ้น เช่น การเกิดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในตอนใต้ของญี่ปุ่น การเกิดอุทกภัยในไทย พม่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ข้อเสนอในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับการผลิตทางการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร การดำรงชีวิตของเกษตรกร ภายใต้ข้อจำกัดอื่นๆ เช่น การถือครองที่ดิน การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความต้องการพลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมเสนอแนะถึงแนวทางดำเนินการต่างๆ การส่งเสริมการบูรณาการมาตรการการปรับตัวและการลดการปลดปล่อยก๊าซโดยใช้เวทีการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาค (ภายใต้การสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว) การสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร และการพัฒนาระบบข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านการเกษตร

สำนักเลขาธิการอาเซียนจะได้สรุปข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะกรรมที่เกี่ยวข้องภายใต้เวที ASEAN และ ASEAN+3 ต่อไป เพื่อสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีข้อกล่าวหามากว่ามีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นสินค้าหลักในแง่ของความมั่นคงด้านอาหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ