NIDA แนะ ธปท.ชะลอขึ้นดอกเบี้ยหลังพบสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวหลังน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า คาดว่าผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมจะส่งผลอย่างชัดเจนในไตรมาส 4/53 จนทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเรียกความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนของเอกชนกลับคืนมา

"ภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 มีสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ที่ส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)"นายมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดในเดือนตุลาคมอยู่ในระดับ 1.1% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักและยังอยู่ในกรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ระดับ 0.5-3.0%

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของ ธปท.ในวันที่ 1 ธ.ค.ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ธปท.จึงควรใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน ด้วยการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและสร้างแรงจูงใจในการลงุทน ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งผลต่อเนื่องไปยังทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวดีขึ้น

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวจากอุทกภัยที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนได้มากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง" นายมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ