นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หนี้ที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณไม่ควรจะมีแล้วในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เพราะได้มีการวางเป้าหมายให้งบประมาณเข้าสู่สมดุลภายใน 5 ปี หลังจากใช้การจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจติดต่อกันหลายปี โดยขณะนี้รัฐบาลไม่มีแผนกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเดิมที่เคยกำหนดว่าจะมีการกู้เงิน 8 แสนล้านบาท ก็ลดลงมาเหลือเพียง 4 แสนล้านบาท
"รัฐบาลวางแผนจะมีการคืนความสมดุลงบประมาณใน 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการทำแผนปฏิบัติการอยู่ และจากนี้ไปหนี้ที่เกิดจากกาขาดดุลไม่ควรจะมีใน 3-4 ปีจากนี้ไป ยกเว้น เป็นไปตามวัฏจักรซึ่งจะสลับการไประหว่างการเกินดุลกับขาดดุล หนี้ก็จะไม่เพิ่มขึ้น"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีผู้คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 90% นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คาดคะเนยาก เนื่องจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยไม่เกิน 60% และมีแนวโน้มว่าจะไม่เกิน 50% ด้วยซ้ำ
นายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งช่วงภาวะน้ำท่วม รัฐบาลก็ได้ใช้วิธีการปรับงบที่มีอยู่แล้ว หรือค่าใช้จ่ายที่มีอยู่แล้วกลับมาสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยหลังจากได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปปรับงบประมาณพบว่ามีเงินส่วนหนึ่งที่เป็นกำไรจากผลของเงินบาทแข็งค่าประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่แต่ละหน่วยงานเตรียมไว้เพื่อนำไปซื้อของจากต่างประเทศ โดยการจัดทำงบประมาณได้ทำไว้ตั้งแต่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ แต่ขณะนี้แข็งค่ามาอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรณีการตั้งงบเหลื่อมปีงบประมาณที่พบว่ามีเงินอยู่ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณไปเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ไม่เช่นนั้นจะริบกลับมาคืนเงินคงคลัง
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ)ให้รัฐบาลปฏิรูปภาษีที่ดินว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเข้าไปดูกฎหมายภาษีทรัพย์สิน ทราบว่ายังอยู่ในกระบวนการของกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา ขณะที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ส่งมาให้พิจารณา