ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองคำปิดพุ่ง $18.60 จากวิกฤตหนี้ยุโรปกระตุ้นนักลงทุนแห่ซื้อทอง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 1, 2010 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ (30 พ.ย.) เนื่องจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะลุกลามไปทั่วยุโรปยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยนักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องแม้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรก็ตาม สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 18.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,386.10 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,364 - 1,391.10 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 1.019 เซนต์ ปิดที่ 28.212 และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 5.8 เซนต์ ปิดที่ 3.8255 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 21.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,666.40 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 8.15 ดอลลาร์ ปิดที่ 703.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อันเป็นผลมาจากความกังวลที่ว่าวิกฤตหนี้สาธารณะอาจลุกลามไปทั่วยุโรป หลังจากไอร์แลนด์ยอมรับเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านยูโรจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นักลงทุนกังวลว่า สเปนและโปรตุเกสอาจเป็นประเทศยุโรปรายต่อไปที่ต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและอียู ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินยูโรและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในยุโรป

การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงติดต่อกัน 3 วันทำการอันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ยุโรป ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อขายในตลาดทองคำมากขึ้นด้วย โดยสัญญาทองคำยังสามารถปิดในแดนบวกได้แม้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร และแม้มีรายงานว่า ผลผลิตทองคำเดือนก.ย.ของเม็กซิโกพุ่งขึ้นถึง 18% ก็ตาม

นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน อนุมัตให้กลุ่มกองทุนรวมของจีนเข้าไปลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำในต่างประเทศได้ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการทองคำแท่งและจะหนุนราคาทองดีดตัวขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ