(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI พ.ย. เพิ่ม 2.8% Core CPI โต 1.1%, คาด CPI ทั้งปี 3.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2010 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ 108.75 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือน พ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.21% จากเดือน ต.ค.53 ขณะที่ CPI ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ย.53) ขยายตัว 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ระดับ 103.85 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน พ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือน ต.ค.53 ขณะที่ Core CPI ช่วง 11 เดือนแรกขยายตัว 0.9%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน พ.ย.53 อยู่ที่ 124.69 เพิ่มขึ้น 5.8% จากเดือน พ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.22% จากเดือน ต.ค.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 99.02 เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน พ.ย.52 และเพิ่มขึ้น 0.20% จากเดือน ต.ค.53

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือน ธ.ค.53 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.1-3.2% ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9-3.0% ส่งผลให้ทั้งปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 3.3% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งเป้าไว้ที่ 3.0-3.5%

ขณะที่ในปี 54 กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2-3.7% จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 78-88 ดอลลาร์/บาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 28-33 บาท/ดอลลาร์ ประกอบกับรัฐบาลขยายมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี สมมติฐานเงินเฟ้อดังกล่าวได้รวมปัจจัยการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับปี 54 ไว้แล้ว

*CPI ยังขยายตัวแม้เพิ่งพ้นช่วงน้ำท่วม

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน พ.ย.53 ที่สูงขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 5.8% และเป็นการสูงขึ้นจากดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น 0.9%

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.21% เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 0.22% จากผลของราคาสินค้าอาหารสดบางรายการที่มีระดับราคาสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.20% จากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับภาวะอุทกภัยทำให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างมีมากกว่าปกติ

นายยรรยง กล่าวว่า การขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคในระดับ 2.8% เทียบปีต่อปีถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือน ต.ค.ได้เกิดอุทกภัยหลายแห่งทั่วประเทศ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังมีเสถียรภาพดี และอยู่ในช่วงฤดูกาลการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ประกอบกับปัญหาอุทกภัยได้เริ่มคลี่คลายลงในหลายพื้นที่จึงทำให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารสดในเดือน พ.ย.ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของเศรษฐกิจไทย และจะเห็นได้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมาโดยลำดับ ขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล เช่น ค่าไฟฟ้า รถเมล์ฟรี การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ตลอดจนการดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ยังคงมีส่วนช่วยให้ค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในภาวะที่แสดงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

"เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพสูงสุด ถ้าเอาตัวเลข CPI ไปเทียบกับ GDP แล้วะพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีมากในโลก"ปลัดพาณิชย์ กล่าว

นายยรรยง ระบุว่า ในเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอมาตรการดูแลราคาสินค้าให้กับนายกรัฐมนตรีได้พิจารณา โดยเฉพาะสินค้าที่มีแนวโน้มราคาว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย และไข่ไก่ ทั้งนี้เพื่อให้พิจารณาว่าจะมีแนวทางสำหรับการแก้ไขในด้านราคาอย่างไร รวมทั้งแนวทางการดูแลปริมาณผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ