นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน “50 ปี กึ่งศตวรรษ สกย. พัฒนายางไทย เทิดไท้องค์ราชัน" ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้เกษตรกรประมาณ 6 ล้านคนที่ประกอบอาชีพการทำสวนยางมีความมั่นคง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ยางเป็นพืชยุทธศาสตร์มีการจัดการการบริหารข้อมูลและเพิ่มมูลค่า ซึ่งในปี 53 มูลค่ายางทั้งหมด 2.3 แสนล้านบาท โดยมีพื้นที่ปลูก 17.52 ล้านไร่ โดยมีผลผลิตจำนวน 3.21 ล้านตัน เป็นปริมาณการส่งออกถึง 2.67 ล้านตัน
ทั้งนี้ รัฐบาลในส่วนของรัฐสภาได้มีมติรับหลักการในร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ช่วงปี 52-56 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ยางพารามีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ทางไทยได้จับมือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อเดินหน้าในการปฏิรูปให้โครงสร้างยางพารามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
"รัฐบาลต้องการที่จะเห็นการทำอาชีพการทำสวนยางมีความมั่นคงและมีความยั่งยืน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของเรา และได้พยายามแก้ไขปัญหายางพาราโดยเฉพาะในด้านราคา ด้วยการรักษาความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ตกลงร่วมกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่คือมาเลเซียและอินโดนีเซีย ให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ยางพารามีราคาสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความยั่งยืนของรายได้ของชาวสวนยางในระยะยาว เรายังต้องเดินหน้าช่วยกันปฏิรูปการพัฒนายางพาราไทย เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาใหม่ ที่สามารถสนับสนุนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น" นายกฯ กล่าว
ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการปรับราคายางจาก 40 บาท/กก.เป็น 100บาท/กก. โดยไทยถือเป็นผู้ผลิตยาง 1 ใน 3 ของโลกมีมูลค่าการส่งออก 4 แสนตัน เป็นอันดับ 3 ของสินค้าที่ส่งออก มีเกษตรกรปลูก 1.45 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูก 17 ล้านไร่ และผลผลิตถึง 3 ล้านตัน
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า สกย. ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ ได้จัดงาน "กึ่งศตวรรษ สกย. พัฒนายางพาราไทยเทิดไท้องค์ราชัน" ภายใต้แนวคิด "ยางพาราพัฒนาเศรษฐกิจ พิชิตความยากจน ประชาชนเข้มแข็ง" ระหว่างวันที่ 1-5 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบข่าวสาร ความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอนาคตยางพารา ตลอดจนความสำคัญของยางพาราที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นเวทีรวมพลังความคิดเห็นของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ในการผลักดันให้ประเทศไทยได้พัฒนาการใช้ยางในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางให้มากยิ่งขึ้น
การจัดงานดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการจับคู่ระหว่างผู้ผู้ผลิตและผู้ซื้อยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดขึ้นในงานนี้ 4 คู่ รวมมูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท ได้แก่
1.บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิต กับ Hangzhou Zhongce Rubber Co.,LTD. (ผู้ซื้อ) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เป็นการซื้อขายยาง STR20/STR compound/RSS/RSS compound ในปริมาณ 500,000 เมตตริกตัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท
2.องค์การสวนยาง (ผลิต) กับ Thye Huat Chan Sdn.Bhd. (ผู้ซื้อ) เป็นการซื้อขาย STR20 จำนวน 900 เมตตริกตันมูลค่า 120 ล้านบาท RSS3 จำนวน 600 เมตตริกตัน มูลค่า 80 ล้านบาท รวมมูลค่า 200 ล้านบาท
3.องค์การสวนยาง (ผู้ผลิต) กับ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย (ผู้ซื้อ) มูลค่า 70 ล้านบาท
4.สหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองนครศรีธรรมราช จำกัด (ผู้ผลิต) กับ บริษัท โรงงานฟุบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด (ผู้ซื้อ) จำนวน 200 เมตตริกตัน มูลค่า 24 ล้านบาท