อินโดนีเซียเผยอัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 6.33% ในเดือนพฤศจิกายน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 1, 2010 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัสมาน เฮเรียวาน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นแตะสถิติสูงสุดในรอบ 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน หลังอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยนายเฮเรียวานระบุในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 6.33% ในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงกว่าระดับ 6% ณ ตอนสี้นปี

"ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงในเดือนธันวาคม และอัตราเงินเฟ้อของทั้งปีอาจอยู่เหนือระดับ 6%" เขากล่าว พร้อมระบุว่า ราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น เป็นสาเหตุให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

ด้านนายวินัง บูโดโย นักวิเคราะห์จากธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไนอากา กล่าวว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มจะไม่ลดลงในเดือนธันวาคม เนื่องจากโดยปกติแล้ว การบริโภคอาหารจะเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมเนื่องจากเป็นช่วงเทศคริสต์มาสและปีใหม่

นอกจากนี้ นายวินนังกล่าวเสริมว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.5% ในการประชุมช่วงต้นเดือนนี้ เพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนและเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ไว้ที่ 4-6%

"เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ระดับ 4.41% ในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นยังมีช่องว่างสำหรับธนาคารกลางในการยับยั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนซึ่งในขณะนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว" นายวินังกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว

นายดาร์มิน นาซูชัน ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวต่อรัฐสภาในวันนี้ว่า ด้วยการคาดการณ์ที่ว่าจะมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่อินโดนีเซีย ส่งผลให้ธนาคารกลางเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการบริหารสภาพคล่องและการเลือกใช้นโยบายการเงิน โดยเขาคาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะอยู่ในช่วง 6-6.5% ในปีหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 6.0% ในปีนี้

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วในระดับปานกลาง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในหลายประเทศ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง ส่งผลให้เกิดการไหลของเงินทุนจำนวนมากสู่อินโดนีเซีย โดยการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากทำให้เงินสกุลรูเปียห์ของอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งวันนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 9.032 ต่อดอลลาร์ และการแข็งค่าของเงินรูเปียห์ได้มีผลกระทบต่อการส่งออกที่ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียง 32% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินโดนีเซีย

นายวินังคาดว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมปีหน้า และอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ระดับ 6.5% ณ สิ้นปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ