ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: แรงซื้อหนุนทองคำปิดบวก 2.20 ดอลลาร์

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 2, 2010 07:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) ทำสถิติปิดบวกติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียและวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป นอกจากนี้ การที่สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงยังเป็นอีกปัจจัยที่หนุนสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 2.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,388.30 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,383 - 1,398.30 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 20.1 เซนต์ ปิดที่ 28.413 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 12.2 เซนต์ ปิดที่ 3.9475 ดอลลาร์/ปอนด์

ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 17.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,684.00 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 29.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 732.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลาดทองคำได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐ ร่วงลง 0.2% มาอยู่ที่ระดับ 81.05% ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มว่าจะลุกลามยุโรป โดยมีรายงานว่าต้นทุนการรับประกันการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร (credit-default swaps) ของรัฐบาลเบลเยี่ยม อิตาลี โปรตุเกส และสเปน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่สัญญาพัลลาเดียมและพลาตินัมทะยานขึ้นแข็งแกร่งหลังจากสหรัฐและจีนเปิดเผยว่า ภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจีนเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนพ.ย.อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนต.ค.ที่ระดับ 54.7 จุด และสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนี ISM ภาคการผลิตในเดือนพ.ย.ขยายตัวสู่ระดับ 56.6 จุด ทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 54.8 จุด ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ