ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดกนง.เทน้ำหนักดูแลเงินเฟ้อ ทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 2, 2010 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงกว่า 2.0% ภายในครึ่งแรกของปี 54 และมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 54 เข้าสู่กรอบบนของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของธปท.ที่ 0.5-3.0% ดังนั้น แรงกดดันเงินเฟ้อที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงจะต้องให้น้ำหนักกับปัจจัยเงินเฟ้อในการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินในช่วงหลายเดือนข้างหน้าต่อไป

วานนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน อีก 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

ทั้งนี้ กนง.ยังคงระบุย้ำว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยของไทย ยังคงอยู่ในช่วงของการปรับขึ้นสู่ภาวะปกติเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ตลอดจนเพื่อสกัดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยยืนที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป

"การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยให้เข้าสู่ระดับปกติ(Normalization)ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจเป็นไปตามการคาดการณ์ของ กนง.ก็คาดว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะปกติดังกล่าว น่าจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในปีหน้า"เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการปรับอัตราดอกเบี้ยยังคงมีสถานการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ต้องติดตาม รวมทั้งประเด็นในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่า ธปท.คงจะนำสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมาพิจารณาในการกำหนดแนวทางนโยบายการเงินของประเทศทั้งในด้านดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ต่อไป

สำหรับปี 54 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นแวดล้อมของแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 54 ที่อาจมีนัยต่อการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ ประกอบด้วย ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าจ้าง/เงินเดือนข้าราชการ, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์/น้ำมันโลกที่ได้แรงหนุนจากทิศทางเงินดอลลาร์ฯ และสภาพอากาศที่แปรปรวน และการสิ้นสุดของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ, มาตรการดูแลราคาพลังงานและราคาสินค้า

ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอ ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาท, แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยและโลก และการต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ, มาตรการดูแลราคาพลังงานและราคาสินค้า

นอกจากนี้ คาดว่า ธปท. น่าที่จะต้องพิจารณาและให้น้ำหนักกับตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ควบคู่กันไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในต่างประเทศ(กลุ่ม G3 เอเชีย และจีน)และความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเมื่อช่วงห่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างมากขึ้นตามจุดยืนเชิงนโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ