วิจัยกสิกรฯ แนะไทยเร่งพัฒนาศักยภาพ-แก้ปัญหาการเมืองเพื่อดึงดูดจีนให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามามากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 2, 2010 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ได้มีการร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างภาคเอกชนไทย-จีน จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วยร่างบันทึกความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่จังหวัดระยอง และการขยายบรอดแบนด์ รวมถึงการลงนามในร่างข้อตกลงในการลงทุนผลิตไฟเบอร์ออฟติกส์ และร่างข้อตกลงในการลงทุนผลิตล้อรถยนต์

แสดงให้เห็นว่าจีนได้ให้ความสำคัญกับไทยในการเป็นฐานการลงทุน และชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จีนต้องการเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีนที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการกระจายสินค้าออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยอุตสาหกรรมที่จีนจะย้ายฐานเข้ามาจะมีทั้งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่อเนื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในปี 2553 จีนมีโอกาสจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแทนญี่ปุ่น โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างก้าวกระโดดที่ระดับร้อยละ 11.9 (YoY) ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ10.3 (YoY) ในไตรมาสที่ 2 แม้ว่าจะเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 3 /2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 แต่ก็ยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2553 ที่คาดว่าอาจไม่เกินร้อยละ 3 ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดหมายว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า หรือ ค.ศ.2025 จีนอาจแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นที่ 1 ของโลกได้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันจีนก็ได้กลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลกแทนสหรัฐอเมริกาไปแล้วตามการประเมินขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ อีกทั้งจีนยังมีบทบาทสำคัญในด้านซัพพลายเชนระดับโลกด้วย

สำหรับการลงทุนโดยตรงของจีนในไทยช่วงครึ่งแรกปี 2553 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งหนุนการเติบโตของภาคการผลิตในประเทศต่างๆ ทำให้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2553 ฟื้นตัวขึ้นได้ดีกว่าที่คาด

จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า จีนได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 945.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และจากสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็พบว่า ปริมาณการลงทุนที่มีการถือหุ้นจากจีนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งด้านของจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขั้นการยื่นขอรับการส่งเสริม หรือขั้นอนุมัติโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนในสาขาบริการและสาธารณูปโภค

ในช่วงครึ่งหลังปี 2553 นักลงทุนก็ยังคงสนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ส่งผลให้โครงการจีนที่เข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีด้วยกัน 23 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่าสูงอันดับที่ 5 รองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป หมู่เกาะเคย์แมน และอาเซียน ตามลำดับ ด้วยมูลค่าโครงการรวม 9.7 พันล้านบาท ซึ่งแม้จะหดตัวลงร้อยละ 4.8 (YoY) แต่เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา อินเดีย และอาเซียน ที่ต่างหดตัวแรงกว่าที่ระดับร้อยละ 87.1 ร้อยละ 64.8 และร้อยละ 40.7 ตามลำดับ ย่อมสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ดีสำหรับการลงทุนของจีนในไทย ทั้งนี้มีเพียงญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปเท่านั้นที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนหนึ่งของการหดตัวดังกล่าวของจีนน่าจะเป็นผลของฐานที่สูงในเดือนกันยายน-ตุลาคมของปีที่แล้ว ประกอบกับโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลาง โดยโครงการลงทุนของจีนในไทยที่มีมูลค่าสูงในปีนี้เป็นสาขาภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 87 ของโครงการทั้งหมดของจีนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทย ตามมาด้วยสาขาเกษตร/ผลิตภัณฑ์เกษตร สัดส่วนเกือบร้อยละ 8 โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญคือกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ

ปัจจุบันวิสาหกิจจีนที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีจำนวนวิสาหกิจรายใหญ่ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ธุรกิจลงทุนในไทยเป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปเป็นหลัก อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยียังน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ไทยและจีนต่างก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพการพัฒนาอีกมากในอนาคต ขณะที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามการส่งเสริมการลงทุนและการติดต่อทางธุรกิจระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศทั้งสองจะยังคงมีการแลกเปลี่ยนและการติดต่อระหว่างกันในด้านการลงทุนมากขึ้นนับจากนี้

ประกอบกับทิศทางการขยายการลงทุนของจีนในต่างประเทศก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของบริษัทต่างๆของจีน ทำให้การดึงดูดการลงทุนทุนจีนนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับไทย เพราะนอกจากจะได้เม็ดเงินลงทุนที่จะกระจายรายได้ไปยังกิจกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดบริโภคสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และมีกำลังซื้อสูงตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า การลงทุนระหว่างไทยและจีนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สะดวกในการคมนาคมขนส่งและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ โดยรอบ นอกจากนี้ ไทยยังได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มอาเซียนแล้ว ประกอบกับการมี FTA ระหว่างอาเซียนกับจีน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ(เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ทำให้การลงทุนในประเทศไทยจึงสามารถขยายตลาดไปสู่ประเทศดังกล่าว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี อีกทั้งยังสามารถใช้วัตถุดิบร่วมกันของประเทศอาเซียนที่มีอัตราภาษีเกือบทั้งหมดเป็นร้อยละ 0

อีกทั้ง ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ค่อนข้างครบวงจร รวมทั้งไทยยังมีเขตอุตสาหกรรมมากกว่า 50 เขตทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ต่างกันออกไป ขณะที่สินค้าไทยก็ได้รับความนิยมในตลาดเอเชียอย่างมาก ประกอบกับแรงงานไทยยังเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูงและฝีมือดี ดังนั้น ตลาดไทยจึงยังคงเป็นตลาดการลงทุนที่มีศักยภาพพอสมควร

แต่ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป โดยประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่างก็เร่งพัฒนาเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันชั้นนำของโลก ที่แม้ว่าการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดย Institute for Management Development หรือ IMD จะเห็นว่าไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 26 เทียบเท่าปีที่ผ่าน แต่การจัดอันดับของ World Economic Forum ปี 2010-2011 กลับพบว่าไทยมีอันดับความสามารถการแข่งขันลดลง 2 อันดับ โดยตกจากอันดับที่ 36 เป็นอันดับที่ 38 จาก 133 ประเทศ ขณะที่ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามต่างมีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนมาเลเซียก็มีอันดับสูงกว่า

ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้สามารถรองรับประโยชน์จากการลงทุนของจีนรวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติอื่นๆโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง การแก้ไขปัญหามาบตาพุด รวมไปถึงความสามารถในการรับเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพในตลาดแรงงาน อันหมายรวมถึงทักษะทางด้านภาษาจีนด้วย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ