ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงเหตุวิตกวิกฤตหนี้ยุโรปหลังมูดีส์หั่นเครดิตฮังการี

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 7, 2010 07:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า วิกฤตหนี้สาธารณของยุโรปอาจลุกลามในวงกว้าง หลังจากเยอรมนีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของคณะรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนที่ต้องการจะเพิ่มขนาดโครงการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.82% แตะระดับ 1.3304 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ (3 ธ.ค.) ที่ 1.3414 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.44% แตะระดับ 1.5708 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5777 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐขยับขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 82.650 เยน จากระดับของวันศุกร์ที่ 82.620 เยน และพุ่งขึ้น 0.69% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9818 ฟรังค์ จากระดับ 0.9751 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.27% แตะระดับ 0.9898 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ 0.9925 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.78% แตะระดับ 0.7612 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7672 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเทขายสกุลเงินยูโรเนื่องจากความกังวลเรื่องการลุกลามของปัญหาหนี้สาธารณะ หลังจากเยอรมนีได้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องของคณะรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนที่ต้องการจะเพิ่มขนาดของเครือข่ายประกันความปลอดภัยวงเงิน 7.50 แสนล้านยูโรสำหรับประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ ยูโรยังถูกกดดันมากขึ้นเมื่อมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮังการีสองขั้นสู่ระดับ Baa3 จาก Baa1 แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นเชิงลบ ซึ่งหมายความว่าอาจมีปรับลดอันดับเครดิตลงอีก หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้สถานะการเงินและการคลังมีเสถียรภาพได้ โดยอันดับเครดิตที่ Baa3 นั้น อยู่เหนือระดับ "ขยะ" เพียงขั้นเดียว

หัวหน้านักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ระบุว่า รัฐบาลฮังการีพึ่งพานโยบายชั่วคราวมากกว่านโยบายปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุลอย่างยั่งยืน และการปรับลดอันดับเครดิตในวันนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลฮังการีสูญเสียความแข็งแกร่งทางการเงินการคลังลงอย่างมาก ขณะที่แนวโน้มเครดิตเชิงลบ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแกร่งทางการเงินการคลังของรัฐบาล เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของฮังการีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่ฮังการีจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตภายนอก อาทิ ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป

สำหรับข่าวความคืบหน้าในสหรัฐนั้น เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ "60 Minutes" ของสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า และสหรัฐอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่าที่อัตราว่างงานจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากกว่านี้ที่ราว 5-6% อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก เนื่องจากเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคที่อยู่อาศัยไม่สามารถตกต่ำลงไปได้มากกว่านี้แล้ว

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง หรือ QE2 ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั้น อาจมีมูลค่าสูงกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ตามที่ได้มีการประกาศไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของโครงการ QE2 รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีแนวโน้มการจ้างงานเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 1.4% แตะระดับ 99 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี บ่งชี้ว่าตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในปี 2554

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนต.ค. และรายงานงบประมาณของรัฐบาลกลางเดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ