กกร.-นักวิชาการหนุนให้รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอีก 10 บาท/วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 7, 2010 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) และนักวิชาการหนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 10 บาทต่อวัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มากนัก หรือแค่เพียง 5% ของต้นทุนเท่านั้น แต่สามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้น

"เห็นด้วยกับกรณีที่คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างในอัตรา 10 บาทต่อวันในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวคิดเป็นเพียง 5% ของต้นทุนเท่านั้น ขณะเดียวกันยังถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้แรงงานตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น"นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าว

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายคาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงนั้นจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นนั้นเป็นหน้าที่ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องควบคุมดูแลให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนมากจนเกินไป แม้ว่าขณะนี้จะมีปัจจัยที่มากระทบต่อต้นทุน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันหากมีการกดราคาสินค้ามากเกินไปก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ในกรอบ 4-5% แต่มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีจะขยายตัวสูงกว่า 5% หากไม่มีปัจจัยลบที่รุนแรง โดยปัจจัยลบที่ภาคเอกชนมีความกังวล ได้แก่ ปัญหาค่าเงินบาท การเมือง เศรษฐกิจโลก และต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเชื่อว่าเมื่อมีค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการมีผลผลิตสินค้าที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล 10 บาท แต่ไม่เกิน 30 บาท ซึ่งส่วนตัวมองว่าระดับที่เหมาะสมคือ 250 บาท/วัน เพราะปัจจุบันแรงงานไร้ฝีมือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่หากรัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าระดับดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบอัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้

ส่วนแนวคิดที่จะช่วยเหลือแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบนั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ภาครัฐไม่ควรช่วยเหลือแรงงานนอกระบบด้วยนโยบายประชาชนนิยม แต่ควรทำในรูปแบบรัฐสวัสดิการเพื่อให้การช่วยเหลือมีความยั่งยืน โดยควรนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมและให้แรงงานจ่ายสมทบร่วมกับภาครัฐ และควรทำควบคู่ไปกับการออมแห่งชาติ เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ