รัฐคาด ธ.ค.นำเข้า LPG 1.4 แสนตัน ชดเชยกว่า 2.5-2.6 พันลบ.เหตุราคาพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน คาดว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ต้องนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 1.4 แสนตัน ต้องใช้เงินชดเชยราคานำเข้าประมาณ 2,500-2,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย.ที่มีการนำเข้า 149,124 ล้านบาท ใช้เงินชดเชยราคาประมาณ 1,925 ล้านบาท

สำหรับlkเหตุที่ชดเชยราคาสูงขึ้นเพราะราคา LPG ในตลาดโลกสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 921 ดอลลาร์/ตัน จากเดือนพ.ย.อยู่ที่ประมาณ 782 ดอลลาร์/ตัน

รมว.พลังงาน กล่าวถึงการดูแลการใช้ก๊าซ LPG หากอนาคตมีการปรับโครงสร้างเป็น 2 ราคา คือ ภาคครัวเรือนและขนส่ง กับภาคอุตสาหกรรมนั้น จะใช้วิธีกำหนดหลักเกณฑ์จากขนาดถัง หากถังมีขนาดเกิน 500 กิโลกรัมจะต้องใช้ถังเบา แต่หากต่ำกว่า 500 กิโลกรัมก็สามารถใช้ถังชนิดเดิมได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก(SMEs) รวมทั้งการใส่สารมาร์กเกอร์เติมสีลงไปในถัง LPG เพื่อสร้างความชัดเจนว่าใช้เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้จะแยกโครงสร้างก๊าซ LPG เป็น 2 ราคาก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซรามิคที่ต้องใช้ก๊าซ LPGในกระบวนการผลิต เพราะรัฐบาลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมให้ใช้เตาประสิทธิภาพสูง ดังนั้นหากราคาก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 65,000 ตัน/เดือน และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิคไม่ถึง 1 หมื่นตัน/เดือน

อย่างไรก็ดี ในเดือน เม.ย.-พ.ค.54 ปตท.จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะมีการทดลองนำ LNG ไปใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิคที่ จ.ลำปาง และจะทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งถูกลง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนถังเก็บด้วย

นพ.วรรณรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2010 ว่า แม้โครงการนิวเคลียร์จะไม่เกิดขึ้น แต่กระทรวงพลังงานก็ยังไม่มีนโยบายที่จะเจรจารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากประเทศลาว ที่ปัจจุบันที่มีแผนรับซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558-2564

ขณะนี้มีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว 5,600 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือในการรับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว 3,200 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังน้ำ เพราะหากมีการพึ่งพิงพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้ จึงต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ในการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศให้เหมาะสม คือไม่เกิน 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ