นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังมีนโยบายในการเข้าดูแลความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติของเกษตรกร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากพบว่าแต่ละปีเกษตรกรมีความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งมาก ดังนั้นจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการนำร่อง โดยมี ผอ.สศค.เป็นประธาน เตรียมจัดทำการรับประกันภัยจากปัญหาภัยแล้ง ในพืชผลประเภทข้าว ใน 24 จว.ทุกภาคของประเทศ
โดยขณะนี้กระทรวงการคลังจะได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการในการรับประกันภัย โดยจะมีการดัดแปลงรูปแบบจากการรับประกันภัยข้าวโพด ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ที่ จ.ขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 54 จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ทั้งเรื่องวิจัยและพัฒนา การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจระบบการประกันภัยมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่า โครงการนำร่องการรับประกันภัยข้าว ในพื้นที่ 24 จังหวัดจะเริ่มได้ในการเพาะปลูกข้าวนาปี เดือน พ.ค.54 โดยวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.53) สศค.จะได้เสนอแนวทางดังกล่าวต่อ รมว.คลังพิจารณาต่อไป
"เคยมีโครงการนำร่องการประกันภัยข้าวโพด ที่ จ.ขอนแก่น โดยมี ธ.ก.ส.เป็นตัวกลางเชื่อมโยง และมี บริษัท สมโพธิ์ เจแปน รับประภัน มีเบี้ยประกันอยู่ที่ 15-28%ของวงเงินชดเชย โดยจ่ายเบี้ยประกัน 100 บาท จะมีทุนประกัน 800-1,800 บาทแตกต่างตามแต่ละพื้นที่ ส่วนเบี้ยประกันภัยข้าว ตอนนี้กำลังดูกันอยู่" นายนริศ กล่าว
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า โครงการนำร่องการรับประกันภัยจะพิจารณาเฉพาะปัญหาภัยแล้งก่อน เนื่องจากยังไม่มีความซับซ้อน ขณะที่ปัญหาอุทกภัย ยังมีการท้วงติงจากภาคเอกชนผู้รับประกันภัยว่ายังมีความซับซ้อนเกินไป แต่ท้ายที่สุดคงจะมีการผลักดันให้มีการรับประกันภัยในทุกด้าน