ผู้ว่าธปท.ชี้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศไทยในทศวรรษหน้า"ว่า ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น เพียงแต่ต้องดูจังหวะในการปรับขึ้น เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ 1.4% โดยเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินเดีย

สาเหตุที่มองอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงมีแรงกดดันให้เกิดการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ต่ำในปัจจุบัน อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่เงินบาทแข็งค่าไม่ได้เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างในประเทศและต่างประเทศ แต่เป็นผลจากพื้นฐานเศรษฐกิจมากกว่า เพราะถ้าหากดูค่าเงินบาทจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะมีเงินไหลเข้ามากกว่าไทยด้วยซ้ำ

นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้ระดับความผันผวนค่าเงินบาทอยู่ที่ 3.4% ต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากค่าเงินหยวนที่อยู่ในระดับ 1.2% ขณะที่ ธปท.จะใช้นโยบายดูแลเงินบาทตามการเคลื่อนไหวของกลไกตลาด โดยมีเงื่อนไขว่าระดับความผันผวนจะอยู่ในระดับที่เศรษฐกิจรับได้ และสอดคล้องกับพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ความสมดุลด้านเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยจะพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ไทยมีเงินทุนไหลเข้า 3 หมื่นล้านเหรียญ ในจำนวนนี้เป็นผลจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของยอดเงินไหลเข้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือในสัดส่วน 60% แบ่งเป็นเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น 1.5 พันล้านเหรียญ เงินลงทุนในตลาดพันธบัตรที่มีปริมาณมากกว่าตลาดหุ้นถึง 3 เท่า รวมทั้งเงินลงทุนในสินทรัพย์อื่นหรือประเภทเงินลงทุนโดยตรง(FDI)

นายประสาร ยังมองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4/53 เทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่เป็นการชะลอลงในด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ไส้ในยังเติบโตได้ด้วยอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลักแทนการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ