ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฯ ดังกล่าวมุ่งให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งมีรายละเอียด 4 เรื่อง คือ 1.วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก สามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน"
2.เป้าประสงค์ให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยมีคุณภาพโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพิ่มขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเน้นการพัฒนากิจกรรมที่สร้างมูลค่าและคุณค่า ตลอดจนสร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืน
3.เป้าหมาย ได้แก่ อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเซีย แบ่งเป็น อันดับขีดความสามารถด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเซีย, อันดับขีดความสามารถด้านสภาวะแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเซีย
และ อันดับขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 อันดับหรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเซีย ,รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี , กลุ่มคลัสเตอร์ดานการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนา 14 กลุ่มคลัสเตอร์
และ 4.ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาและปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ การสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมและระบบเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาค เป็นต้น, ยุทธศาสตร์การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เช่น พัฒนายกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพ การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้า บริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กิจกรรม นวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว การเสริมสร้างโอกาสและแรงจูงใจเพื่อพัฒนาการค้า การลงทุนด้านการท่องเที่ยว การพัฒนามาตรฐานสินค้า และบริการท่องเที่ยว การป้องกันและรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ฯลฯ,
ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น สร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว สร้างสภาพแวดล้อมและพัฒนาระบบสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยว สร้างกระแสการรับรู้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการท่องเที่ยว ฯลฯ และ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว เช่น การสร้างและพัฒนากลไกในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท่องเที่ยว เป็นต้น