(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.53 ที่ 70.3 จาก 71.6 ในต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 9, 2010 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พ.ย.53 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 70.3 ลดลงจาก 71.6 ในเดือน ต.ค.53 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 70.5 ลดลงจาก 71.5 ในเดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 96.3 ลดลงจาก 97.4 ในเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 2

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและส่วนราชการ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, ภาคบริการ และการท่องเที่ยว, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลต่อภาวะเงินบาทแข็งค่าที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต, ภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง ในขณะที่รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในอนาคต

อย่างไรก็ดี ในเดือน พ.ย.53 ยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์ GDP ในปีนี้ขึ้นเป็น 7.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.0-7.5%, ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์, การค้าระหว่างประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง, ภาวะเงินบาทแข็งค่าสะท้อนว่ายังมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าลงทุนในไทย และเริ่มมีเม็ดเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าราคาสินค้าอาจจะปรับสูงขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ดี มองว่าเป็นปัญหาระยะสั้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายว่าจะดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ด้วยการลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และอาจพิจารณาใช้มาตรการการคลังด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งน่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ชะงักได้

พร้อมมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1/54 หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคเข้ามาในเดือนธ.ค.53

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 54 ว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 บาท จะทำให้มีเงินสะพัดในกลุ่มแรงงานเพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนอีก 5-6% จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศคึกคักและมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราดังกล่าวจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพียง 0.2-0.3 % เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันยังทำให้ ธปท.สามารถใช้นโยบายการเงินดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วจนเกินไปได้

อย่างไรก็ดี ได้สนับสนุนให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนออกไปอีก 3 เดือน จากที่จะครบกำหนดในสิ้นปี 53 เพื่อช่วยดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นและมีส่วนช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นได้ ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลค่อยทยอยยกเลิกบางมาตรการจนยกเลิกอย่างสิ้นเชิงในเดือนก.ค.54 หลังจากที่การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เริ่มเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รวมทั้งเพื่อไม่ให้ประชาชนยึดติดกับการช่วยเหลือของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ