(เพิ่มเติม) ธปท.จับตามาตรการดูแลเงินไหลเข้าของต่างชาติ พร้อมพิจารณาความจำเป็นใช้เฉพาะจุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 9, 2010 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จับตามาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าของประเทศต่าง ๆ ที่มีการเตรียมการไว้หากจำเป็น เนื่องจากคาดว่าจะมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากหลายประเทศตัดสินใจนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ธปท.ก็คงต้องพิจารณาความจำเป็นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออกจากประเทศเหล่านั้นแล้วทะลักมาที่ไทยแทน แต่หากนำมาใช้ก็จะพิจารณาใช้กับเฉพาะจุดที่มีปัญหา โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้มาตรการเหวี่ยงแห เพื่อไม่ให้กระทบกับส่วนอื่น ๆ เพราะเกรงจะเกิดผลเสียหายมากกว่าผลดี

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)) กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคเตรียมพร้อมมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า เพราะเชื่อว่าจะมีเงินไหลเข้าจำนวนมาก ซึ่งตามทฤษฎีแล้วหากประเทศใดตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าวก็จะทำให้เกิดผลกระทบคือเงินไหลออกจากประเทศนั้นไปยังประเทศอื่นที่ไม่ใช้มาตรการ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ต้องกลับมาคิดว่าจะใช้มาตรการตามประเทศอื่นหรือไม่

ในส่วนของไทย ธปท.มีโอกาสที่จะทำมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า โดยจะพิจารณาความจำเป็นตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วและติดตามเงินไหลเข้าอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ เพราะก็ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วหากมีความจำเป็น และเลือกใช้มาตรการอย่างเหมาะสม

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในไทย ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก เปลี่ยนจากเดิมที่เคยเข้ามาตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยขณะนี้ปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้คิดเป็น 3 เท่าของตลาดหุ้น หรือมีมูลค่าประมาณ 1.55 แสนล้านบาท ดังนั้น หากจะต้องใช้มาตรการก็จะเน้นเฉพาะจุดที่มีปัญหา จะไม่เป็นการเหวี่ยงแห เพราะโอกาสที่จะทำให้เกิดผลเสียหายจะมีมากกว่าผลดี ซึ่งขณะนี้ ธปท.มีข้อมูลที่เร็ว ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด

สำหรับคาดการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกนั้น ในปี 54 สหรัฐจะใช้มาตรการ QE2 ซึ่งคาดว่าจะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบถึง 6 แสนล้านเหรียญ ก็จะทำให้เงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทย ซึ่งตรงนี้ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินของดอลลาร์มากขึ้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะอัตราดอกเบี้ยปกติ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขยายตัวได้ดี ซึ่งจะมีส่วนดูดเงินเข้าภูมิภาคด้วย โดยขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วและจะต่อเนื่องไปอีก

ขณะที่มีการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลง โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจในปี 54 จะเติบโต 4.2% ลดลงจาก 4.8% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงจาก 2.6% เป็น 2.3% ส่วนยุโรปจาก 1.7% เป็น 1.5% ,ญี่ปุ่น จาก 2.8% เป็น 1.5% ส่วนประเทศอาเซียน 5 ประเทศ รวมไทยด้วย จะชะลอจาก 6.6% เป็น 5.4% จีนจาก 10.5% เหลือ 9.6%

สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การส่งออกของไทยในปีหน้าขยายตัวลดลง ก็จะทำให้การเกินดุลบัญชีลดลง ส่งผลให้เงินตราต่างประเทศรูปดอลลาร์ไหลเข้าไทยลดลง คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวสองทิศทางทั้งอ่อนและแข็งค่าในบางช่วง เทียบกับปีนี้ที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวคือแข็งค่าถึง 10% สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น และความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศในตราสารหนี้และตราสารทุนของไทย

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า การที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีความชัดเจน และปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปในปีหน้ายังแย่อยู่ ก็จะทำให้ค่าเงินในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวนไปด้วย โดยธปท.จะดูแลความผันผวนค่าเงินไม่ให้เร็วเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวได้ทัน

"ค่าเงินที่ two way ไม่ได้หมายความว่าสวิง แต่วิ่งทั้งสองทิศทาง ตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว ค่าเงินบาทก่อนหน้าอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้มาอยู่ที่ 30.07 บาท/ดอลลาร์แล้ว ปีนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค แต่ปีหน้าจะไม่เห็นสภาพนี้แล้ว"นางผ่องเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธปท.เห็นว่าขณะนี้ยังน่าจะเป็นโอกาสดีในการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ในต่างประเทศถูกลง เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และ การลงทุนในต่างประเทศทำได้คล่องตัวขึ้น พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าผู้นำเข้าสุทธิและผู้ที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ