บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานของไทยโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.1 และมีแนวโน้มขยับลงเล็กน้อยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-1.1 ในปี 2554 และการที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเติบโตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปัจจุบันบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เช่น การผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน Eco Car และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานมากขึ้น เป็นต้น ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีระดับความรู้และมีทักษะฝีมือเฉพาะทางมีแนวโน้มสูงขึ้น
ดังนั้น รัฐบาลน่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อรองรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศในการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทยให้มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรีได้ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาทิ การจัดระบบโครงสร้างการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา โดยการวางแผนพัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถผลิตบุคคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดแรงงานและการใช้กำลังแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิชาชีพที่เรียนมา รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนควรให้มีความทันสมัยและเหมาะสม เพื่อที่จะผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต
สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจ การปรับขึ้นค่าจ้าง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้มีมติการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 11 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.3 นับเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อยเป็นข่าวดีต่อผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับที่มีการรับรู้มาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมไทยคงจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในปีหน้า โดยนอกเหนือจากต้นทุนค่าจ้างที่ปรับขึ้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับอัตรากำไรที่อาจลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงในรูปเงินบาท รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง