ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยดัชนีราคาข้าวพ.ย.53 ปรับลดผลจากน้ำท่วม แต่ธ.ค.53-Q1/54 แนวโน้มสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 13, 2010 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ในระดับ 185.54 ปรับลดร้อยละ 4.1จากเดือนก่อนหน้า(MoM) เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ข้าวที่เกี่ยวได้บางส่วนยังไม่ถึงอายุการเก็บ และความชื้นสูง ราคาจึงมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวราคาลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม

ดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ยข้าวทุกประเภทของไทยในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวจากไทย จากการที่เวียดนามต้องชะลอการลงนามสัญญาส่งออกข้าว เนื่องจากรับคำสั่งซื้อเต็มไปถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2554 เมื่อผู้ส่งออกเริ่มหันมาซื้อข้าวเพื่อการส่งมอบ รวมทั้งราคาข้าวของเวียดนาม(เกรดส่งออก)ขยับเข้ามาใกล้เคียงกับราคาข้าวไทย และสูงกว่าข้าวไทยในบางช่วง เนื่องจากเวียดนามปรับขึ้นราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2553(นับเป็น 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553) สำหรับข้าว5% เป็น 540 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับราคาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ดัชนีราคาขายส่งข้าวหน้าโรงสีและดัชนีราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยทุกประเภทขยับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง

"ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ภาวะอากาศที่แปรปรวนสร้างความเสียหายให้กับทั้งประเทศผู้ผลิตข้าว โดยเฉพาะปากีสถานและจีน และผู้นำเข้าข้าว โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีจำกัด ในขณะที่ความต้องการข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้น และราคาข้าวในทุกระดับตลาดของไทยขยับตามขึ้นด้วยเช่นกัน" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ดัชนีราคาข้าวของไทยในทุกระดับตลาดในเดือนธันวาคม 2553 มีแนวโน้มจะปรับขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยดีขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้าย โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าหันมาซื้อข้าวจากไทย เนื่องจากเวียดนามงดลงนามสัญญาส่งออกชั่วคราว อันเป็นผลจากมีคำสั่งซื้อรอส่งมอบเต็มไปถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2554

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าดัชนีราคาข้าวของไทยในทุกระดับตลาดทั้งปี 2553 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาส่งออก เนื่องจากแรงหนุนที่ทำให้ราคาข้าวดีดตัวขึ้นมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน —ธันวาคม 2553 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงราคาขายส่งข้าวหน้าโรงสี และราคาเกษตรกรขายได้

"ภาวะอุทกภัยในช่วงปลายปี 2553 ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าวนาปีฤดูการผลิต 2553/54 โดยการประมาณการความเสียหาย(ณ 26 พฤศจิกายน 2553) คาดว่าผลผลิตข้าวจะเสียหายโดยสิ้นเชิง 5-6 แสนตันข้าวเปลือก(3.0-3.6 แสนตันข้าวสาร) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5-1.8 ของผลผลิตข้าวนาปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าความเสียหายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมทั้งยังสามารถปลูกชดเชยได้ในช่วงข้าวนาปรัง"

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดการณ์ว่า ราคาข้าวของไทยยังขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2554 โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยเกษตรกรขายได้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0-10.0 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2553 ส่วนราคาส่งออกเฉลี่ยทุกประเภทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นต้องรอดูปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังประมาณต้นไตรมาสสอง ซึ่งผลผลิตที่ออกมาดังกล่าวจะมีผลผลิตข้าวขาว และข้าวหอมปทุมธานี1 เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9.20 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 12.2 YoY ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม โดยจะกระทบต่อราคาข้าวขาว แต่คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวคาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปจนถึงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ซึ่งผลผลิตฤดูการ 2554/55 จะออกสู่ตลาด

นอกจากนี้ปัจจัยที่ยังต้องจับตามองในปี 2554 คือ ผลผลิตข้าวของเวียดนามซึ่งจะกระทบภาวะการแข่งขันในการส่งออกข้าวในตลาดโลก โดยผลผลิตข้าวของเวียดนามจะออกสู่ตลาดประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2554

อีกทั้ง ในปี 2554 คาดว่าเวียดนามจะต่อสัญญาข้อตกลงซื้อขายข้าวกับฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 1.5 ล้านตันภายในเดือนมิถุนายน 2554 จากที่มีการลงนามสัญญาส่งมอบข้าวกับฟิลิปปินส์ในปี 2553 ไปแล้ว 2.45 ล้านตัน(กำหนดส่งมอบเสร็จภายในไตรมาสแรกปี 2554) รวมทั้งบังคลาเทศกำลังเจรจาต่อรองทำสัญญาส่งมอบข้าวในระยะยาวกับเวียดนามในปริมาณ 500,000 ตันต่อปี ทำให้คาดว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงต่อไปในปี 2554

ขณะที่ การตัดสินใจของอินเดียว่าจะกลับเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวหรือไม่ เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวของอินเดียเพิ่มขึ้น หลังจากที่อินเดียประกาศงดการส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่ปี 2551/52 ในกรณีที่อินเดียกลับเข้าตลาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย และส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศไทยมีความผันผวนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ