ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อีก 0.5% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. ซึ่งนับเป็นการเพิ่มเพดานสำรองครั้งที่ 3 ในเดือนนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการประกาศครั้งล่าสุดจะทำให้สัดส่วนการกันสำรองสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 18.5%
กัว เตียนหยง อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Central University of Finance and Economics กล่าวว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์และยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกินคาด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนต้องเร่งดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบทันที
โดยข้อมูลของธนาคารกลางจีนระบุว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ในเดือนพ.ย.มีอยู่มากถึง 5.64 แสนล้านหยวน หรือ 8.545 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ตลอดปี 2553 อาจสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ที่ 7.5 ล้านล้านหยวน
ส่วนปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ซึ่งครอบคลุมถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทุกประเภท พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 19.5% ในเดือนพ.ย. สู่ระดับ 71.03 ล้านล้านหยวน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ถึง 17%
อาจารย์กัวยังกล่าวด้วยว่า สภาพคล่องส่วนเกินและภาวะเงินเฟ้อสะท้อนให้เห็นได้จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 70 เมืองขนาดใหญ่ของจีนพุ่งขึ้น 7.7% ในเดือนพ.ย. ขณะที่ยอดการส่งออกทะยานขึ้นเกินความคาดหมาย
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบสอง หรือ QE2 ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในจีนเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมสภาพคล่อง ธนาคารกลางจีนจึงตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ 0.25% เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา และจากการคำนวณโดยอาศัยข้อมูลของธนาคารกลางจีนพบว่า การเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องครั้งล่าสุดจะสามารถดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารได้ถึง 3.50 แสนล้านหยวน
หยิน เจียนเฟิง นักวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน กล่าวว่า การเพิ่มเพดานกันสำรองครั้งล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางจีนได้ปรับนโยบายการเงินให้คืนสู่สภาวะปกติ จากที่เคยใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานั้นจีนนำนโยบายดังกล่าวมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลก
แม้ธนาคารกลางจีนยกระดับการบริหารจัดการสภาพคล่อง แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การตัดสินใจเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องแทนการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีท่าทีระมัดระวังในเรื่องการรับมือกับสภาวะต่างๆทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลกังวลว่าการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไปอาจจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจได้
เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตรา 9.6% ต่อปีในไตรมาส 3 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ดีถึง 10.3% และไตรมาสแรกที่ 11.9% แม้ภาคการผลิตของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม
หยาง เสิ่นตี นักวิเคราะห์จากบริษัทเซียงไค ซิเคียวริตีส์กล่าวว่า การเพิ่มเพดานสำรองสภาพคล่องถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบโดยไม่ทำให้มีเม็ดเงินเก็งกำไรทะลักเข้าประเทศเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ นายหยางคาดว่าธนาคารกลางจีนจะเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องอีกในปี 2554
ขณะที่หลู ติง นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า แม้ธนาคารกลางจีนเล็งเห็นความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางจะไม่ยอมขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ ใช้มาตรการระงับการปล่อยเงินกู้
"การเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องถือเป็นทางเลือกที่สมดุลที่สุดของธนาคารกลางจีน เนื่องจากจีนมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปัจจุบันเอาไว้" นายหลูกล่าว
อย่างไรก็ดี นายกู ฮงบิน นักวิเคราะห์จากเอเชีย อีโคโนมิค รีเสิร์ช กล่าวว่า "การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับปานกลางถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรับมือกับวิกฤตเงินเฟ้อ เรายังเชื่อว่าจีนจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเร็วๆนี้" สำนักข่าวซินหัวรายงาน