นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรกรจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี2553/54" เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำชลประทานในเขื่อน และแนวโน้มการผลิตและตลาดพืชฤดูแล้ง รวมทั้งชี้แจงแผนการจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกฤดูพืชฤดูแล้งปี 2553/54 ในเขตลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 23 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,050 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกัน ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาแม้จะมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 1,526 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้น้ำจริง
ดังนั้น ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศจำนวน 15.29 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 12.60 ล้านไร่ พืชไร่และผักอีก 2.69 ล้านไร่ โดยในเขตลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 23 จังหวัดกำหนดแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งจำนวน 7.12 ล้านไร่ แยกเป็น พืชไร่และผัก 0.41 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 6.71 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทาน 5.21 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทานอีก 1.5 ล้านไร่
ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการเริ่มต้นโครงการจัดระบบปลูกข้าวตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้จากที่ได้มีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ พบว่ามีเกษตรกรต้องการเข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าวแล้ว 1.2 ล้านไร่ เกษตรกรจำนวน 39,771 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 3 ล้านไร่ โดยเกษตรกรในจำนวนดังกล่าวมีความต้องการปลูกพืชหลังนา และพืชปุ๋ยสด จำนวน 4.5 แสนไร่ เกษตรกรจำนวน 23,327 ราย ที่จะเริ่มเพาะปลูกพืชหลังนา และพืชปุ๋ยสดในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน 2554 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ด้านการตลาดของพืชฤดูแล้งในปีหน้าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งข้าวนาปรัง และถั่วเขียว ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ราคาจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ถั่วเหลืองราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดและปลูกข้าวนาปรังตามต้นทุนของแหล่งน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร รวมถึงการเฝ้าสังเกตุและตรวจสอบแปลงเพาะปลูกของตนเองที่อาจจะประสบปัญหาศัตรูพืชระบาด โดยเฉพาะการที่เกษตรกรไม่มีการเว้นการเพาะปลูกที่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดวงจรของแมลงศัตรูพืชมีการระบาดรุนแรงขึ้น