กรมการค้าต่างประเทศ มองอียูออกกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่เพิ่มโอกาสส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 13, 2010 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางสหภาพยุโรปได้ออกกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกระบวนการผลิตของประเทศผู้รับสิทธิมากขึ้นอันจะส่งผลให้ประเทศผู้รับสิทธิฯ สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ GSP ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้กำหนดให้สินค้าในกลุ่มเดียวกันใช้กฎเดียวกัน (Sector-by-Sector) จากเดิมที่กำหนดเป็นกฎฯ เฉพาะรายสินค้า (Product-by-Product) และยังเปิดโอกาสให้ผู้รับสิทธิฯ สามารถเลือกใช้กฎตามความเหมาะสมกับกระบวนการผลิตได้ เช่น ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้หลักเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก (Change of tariff heading) หรือ 6 หลัก (Change of tariff sub-heading) แทนกฎการเพิ่มมูลค่า (Value-added) ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎการเปลี่ยนพิกัดฯ มีความเหมาะสมหรือทำได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบนำเข้าในการผลิตได้ในอัตราที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 70 ของราคาสินค้าหน้าโรงงาน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงร้อยละ 40 ของราคาสินค้าหน้าโรงงานเท่านั้น

สำหรับกฎเกณฑ์การสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า สหภาพฯ ได้ปรับปรุงกฎฯ ให้สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าข้ามภูมิภาคได้ กล่าวคือ ประเทศไทยและประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN อื่นๆ สามารถสะสมแหล่งกำเนิดฯ กับประเทศที่อยู่ในกลุ่ม SAARC (อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน มัลดีฟ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา) ได้ จากเดิมที่สามารถสะสมแหล่งกำเนิดฯ ระหว่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันเท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศผู้รับสิทธิฯ ยังสามารถนำวัตถุดิบจากประเทศตุรกี และประเทศที่ทำความตกลง FTA กับสหภาพยุโรปเข้ามาสะสมแหล่งกำเนิดฯ (Extended cumulation) ได้อีกด้วย

ประเทศที่ต้องการสะสมแหล่งกำเนิดฯ ข้ามภูมิภาคหรือสะสมแหล่งกำเนิดฯ กับประเทศที่ทำความตกลง FTA กับสหภาพฯ จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อพิจารณาอนุญาต โดยจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการสะสมแหล่งกำเนิดฯ เช่น กระบวนการผลิต ราคา และที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ เป็นต้น

"กฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ภายใต้ระบบ GSP ของสหภาพยุโรปนี้ มีความยืดหยุ่นกว่ากฎฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาก กรมฯ จึงหวังว่าผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากระบบ GSP มากขึ้น กรมฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) และ กำกับดูแลการใช้สิทธิ กำกับดูแลการใช้สิทธิ GSP ต่าง ๆ ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบหรือข้อกำหนดของระบบ GSP อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวและทำความเข้าใจกฎแหล่งกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ของสหภาพฯ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบ GSP สหภาพยุโรป"นายสุรศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ