นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานย่อยเพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน(ฝ่ายไทย) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ศึกษากรอบความร่วมมือระหว่างลาว-จีน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างไทย-จีน
โดยเบื้องต้นไทย-จีน จะตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและบริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายไทยจะถือหุ้นใหญ่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นรูปแบบของรัฐวิสาหกิจหรือเป็นบริษัทเอกชน เนื่องจากมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปเรื่องดังกล่าวในการประชุมวันที่ 15 ธ.ค.53 และจะสรุปร่างกรอบ MOU ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ภายในเดือนธ.ค.นี้
"หากจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะสามารถมอบสิทธิให้หน่วยงานนี้ก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถได้ แต่การบริหารงานจะไม่คล่องตัว แต่หากจัดตั้งเป็นบริษัทเอกชน จะไม่สามารถให้สิทธิบริษัทนี้ดำเนินงานในลักษณะผูกขาดได้ แต่จะมีความคล่องตัว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายไม่ต่ำกว่า 10 ฉบับ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ" นายจุฬา กล่าว
ขณะที่แนวทางการลงทุนนั้นจะเป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ และแยกการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการเดินรถออกจากกัน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยจะลงทุนโดยใช้สิทธิที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นมูลค่าการลงทุน โดยที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เขตทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่วนสัดส่วนการลงทุนเบื้องต้น อาจลงทุนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 50% ต่อ 50 % การบริหารจัดการเดินรถไทยถือหุ้นใหญ่ 51% และจีน 49%