รมว.พลังงาน รับลูกนายกฯสั่งศึกษานำค่าภาคหลวงปิโตรเลียมชดเชยราคาแอลพีจี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 13, 2010 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มีแนวคิดจะนำเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไปชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เพราะจะช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการนำเงินจากกองทุนฯ ไปช่วยชดเชยในส่วนของราคาแอลพีจีอยู่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเสนอให้มีการแบ่งสัดส่วนเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมก่อนส่งเข้ารัฐจำนวน 4-5 พันล้านบาท จากที่มีจัดเก็บประมาณ 4 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งจะต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 17 ธ.ค.นี้

ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินค่าภาคหลวงส่งไปให้กระทรวงการคลังปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยเงินดังกล่าวมีการจัดเก็บจากบริษัทผู้ผลิตในอัตราเดิม 12.5% แต่ผู้ที่ได้รับสัมปทานหลังปี 2532 เป็นต้นมาจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บใหม่ โดยเก็บในสัดส่วนการผลิตตามแหล่งที่สำรวจเจอตามขนาดตั้งแต่ 5-15%

นอกจากนี้ การทำธุรกิจผลิตปิโตรเลียมจะต้องมีการเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดยจัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทผู้ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 50% ทั้งนี้สัดส่วนการจัดเก็บเงินค่าภาคหลวงในปัจจุบันจำนวน 80% มีบริษัทผู้ผลิตปิโตรเลียมที่จะต้องจ่ายเงินค่าภาคหลวงจำนวน 12.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท

นับถึงเดือน ธ.ค.53 มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมดำเนินการจำนวน 63 สัมปทาน 82 แปลงสำรวจ แบ่งเป็น แปลงบนบก 33 สัมปทาน 43 แปลงสำรวจ, แปลงในอ่าวไทย 29 สัมปทาน 36 แปลงสำรวจ, แปลงในทะเลอันดามัน 1 สัมปทาน 3 แปลงสำรวจ

ขณะที่นายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 สามารถจัดหาปิโตรเลียมได้เฉลี่ยวันละ 783,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่า 1,650 พันล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 44% ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่จัดหาได้ประมาณ 695,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 12% โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้แผ่นดินจากกิจการสำรวจและผลิตของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมภายในประเทศและจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย- มาเลเซีย(JDA) ในรอบ 12 เดือนของปีงบประมาณ 2553(1 ต.ค.52-30 ก.ย.53) เป็นเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 121,518.91 ล้านบาท ได้แก่ ส่วนที่จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้แก่ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บจากแหล่งในประเทศจำนวน 42,044.67 ล้านบาท ส่วนแบ่งจากรายได้การผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) จำนวน 9,969.47 ล้านบาท รายได้จากผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจำนวน 1,779.77 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 14% นอกจากนี้ยังมีรายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร คือ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จำนวน 67,725 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ