นักเศรษฐศาสตร์ชี้เงินเฟ้อจีนพลิกผันได้แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนศก.โตร้อนแรง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 15, 2010 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ของเมอร์ริล ลินช์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนนั้นอาจจะพลิกผันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการขยายตัวที่ร้อนแรงเกินไป

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อีธาน แฮร์ริส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของแบงค์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช กล่าวว่า เงินเฟ้อส่วนใหญ่ในจีนจนถึงขณะนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเงินเฟ้อถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่ทำให้เราจำเป็นต้องคุมเข้มด้านนโยบาย แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็ตาม

ทางด้านอัลเบอร์โต อาเดส หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์เงินในตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจทั่วโลกของแบงค์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช กล่าวถึงสาเหตุและผลกระทบจากเงินเฟ้อของจีนว่า ส่วนใหญ่ล้วนได้รับแรงผลักดันจากอาหารและผัก เราจะยังคงเห็นภาวะเงินเฟ้อต่อไปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ธนาคารกลางจีนเองได้ขึ้นเพดานกันสำรองเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง

หลังจากที่ดัชนี CPI ของจีนดีดตัวขึ้นแตะระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือนนั้น ธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจขึ้นเพดานกันสำรองสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อีก 0.5% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นเพดานเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือน

แฮร์ริส กล่าวว่า การที่จีนคุมเข้มด้านนโยบายเงินตรานั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องเลวร้าย แม้ว่าการคุมเข้มนโยบายในจีนอาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ชะลอตัวลงมากนัก โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 10.3% ในปีนี้ และปีหน้าการขยายตัวของจีนอาจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 9.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ