(เพิ่มเติม) สมาคมกุ้งไทยคาดปี 54 ปริมาณส่งออก 4 แสนตัน มูลค่าแสนลบ.ใกล้เคียงปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมกุ้งไทยตั้งเป้าปี 54 มีปริมาณการส่งออกราว 4 แสนตัน มูลค่าราว 1 แสนล้านบาทใกล้เคียงปีนี้ หลังจากเดือน ม.ค.-ต.ค.53 ส่งออกได้แล้ว 3.55 แสนตัน มูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 11% และ 8% ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปี 52

"ถือว่าดีมาก เนื่องจากคู่แข่งมีผลผลิตลดลงทั้งจากสภาพอากาศแปรปรวนและภัยธรรมชาติ โดยตลาดส่งออกหลักยังเป็นสหรัฐ 45% เอเชีย-ญี่ปุ่น 20% สหภาพยุโรป 15% และมีการขยายตัวดีในทุกตลาด" นายสมศักดิ์ ปณีตัทยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

ด้านทิศทางราคากุ้งในปี 54 คาดว่าจนถึงไตรมาส 1 ของปี 54 จะใกล้เคียงกับขณะนี้ที่ราคากุ้ง 50 ตัว/กก. อยู่ที่ 155 บาท และ กุ้ง 70 ตัว/กก.ราคาอยู่ที่ 125 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% จากปี 52 ที่กุ้ง 50 ตัว/กก.ราคาอยู่ที่ 125-130 บาท และ กุ้ง 70 ตัว/กก.ราคาอยู่ที่ 110-115 บาท

"เราเชื่อว่าปีหน้าราคากุ้งไทยน่าจะยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปีนี้ที่ไทยผลิตกุ้งได้มาก ขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญในการผลิตกุ้งได้รับผลกระทบจากการที่ผลผลิตเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามในปีหน้ายังต้องลุ้นว่าประเทศคู่แข่งจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ถ้ายังฟื้นตัวไม่ได้ก็จะเป็นโอกาสดีของกุ้งไทยต่อไปในการส่งออก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคระบาด ทั้งจากในประเทศและโรคระบาดที่มาจากกระแสน้ำในต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก และเวลาเกิดแล้วก็แก้ได้ลำบาก"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในปีนี้ไทยผลิตกุ้งได้มาก และคนไทยก็หันมาบริโภคกุ้งขาวกันมากขึ้น โดยการบริโภคกุ้งในประเทศอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นตัน ถือเป็นแนวโน้มดีมาก

ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตในปีนี้จะอยู่ที่ราวๆ 6.4 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 52 ประมาณ 14% แบ่งเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 6.35 แสนตัน และกุ้งกุลาดำ 5 พันตัน แม้ว่าปีนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญ ๆเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ต้นปีจนถึงกลางปี เกิดโรคขี้ขาวระบาดในหลายพื้นที่ ปลายปีเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกิดพายุดีเปรสชั่นในภาคใต้ทำให้แหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งซึ่งส่วนใหญ่กว่า 90% อยู่ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผลผลิตเสียหายค่อนข้างมาก ทั้งจากกรณีน้ำท่วมบ่อกุ้ง น้ำป่าไหลเข้าบ่อ ทำให้บ่อกุ้งเสียหายกว่า 700 บ่อ ผลข้างเคียงจากการเกิดฝนตกหนักทำให้ไฟฟ้าดับ ทำให้กุ้งในบ่อไม่มีออกซิเจนจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต รวมทั้งสภาพอากาศแปรปรวน และโรคคะบาดทำให้เกษตรกรต้องวางแผนจับกุ้งเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังถือว่าผลผลิตกุ้งของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหลายๆประเทศ อาทิ อินโดนีเซียที่เจอโรคระบาด IMNV และ เวียดนาม

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเลี้ยงกุ้งที่สำคัญในภาคใต้ฝั่งอันดามัน และได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงสุดที่ 17 บาท/วันนั้น มองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากนัก เนื่องจากเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่แล้วเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการเลี้ยงกุ้ง

"การเลี้ยงกุ้งมีการใช้แรงงานค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในส่วนของโรงงานแปรรูปกุ้ง แต่มองว่าผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้" นายสมศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ