ธพ.เตรียมร่างประกาศกระทรวงพลังงานรองรับคาดการณ์แยกโครงสร้างราคา LPG

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่า ธพ.ได้เตรียมร่างประกาศกระทรวงฯ เพื่อการดูแลรองรับกรณีที่รัฐบาลอนุมัติให้แยกราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ราคาภาคอุตสาหกรรม และ 2.ราคาภาคครัวเรือน-ยานยนต์

ร่างประกาศดังกล่าวจะกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แอลพีจีมากกว่า 500 กก./เดือนเป็นต้นไป ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้จากเดิมใช้ถังแอลพีจีเหมือนครัวเรือน เป็น bullb หรือถังเก็บขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 1-2 แสนบาท และจะมีการเติมมาร์กเกอร์ให้มีความแตกต่างระหว่างก๊าซของผู้ใช้ทั้ง 2 กลุ่มเพื่อป้องกันการลักลอบถ่ายเทระหว่างกัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง และอาจหันไปใช้น้ำมันเตาแทน น่าจะส่งผลให้การใช้แอลพีจีในโรงงานลดลงมาก จากปัจจุบันมีปริมาณใช้แอลพีจีประมาณ 6 หมื่นตัน/เดือน

ด้านนายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการเซรามิกส์ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาก๊าซฯ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเข้าไปช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงเตาเผาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ลดต้นทุนได้มาก ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับราคาแอลพีจีที่ปรับขึ้นก็คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถแข่งขันได้

ขณะที่นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) กล่าวว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นฯ ให้ลอยตัวก็จะส่งผลให้โรงกลั่นฯ ต่างๆ นำแอลพีจีกลับมาขายเพิ่มขึ้น เพราะมีความคุ้มทุนในการจำหน่าย

ปัจจุบัน ราคาแอลพีจีในตะวันออกกลางอยู่ที่กว่า 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ของไทยมีการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นไว้ไม่เกิน 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากขายในรูปแอลพีจีจะได้ในราคาเทียบเท่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางบางจากฯ นำแอลพีจีไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไฮโดรเจน เมื่อปรับราคาก็จะนำมาจำหน่ายในตลาด และใช้ก๊าซธรรมชาติจาก ปตท.ทดแทน โดยคาดว่าในเฟสแรกจะจำหน่ายได้ 2,000 ตัน/เดือน และเฟสที่ 2 ในไตรมาส 3/54 จะจำหน่ายได้รวม 6,000 ตัน/เดือน

ด้าน น.ส.สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงพลังงานควรจะปรับราคาหน้าโรงกลั่นฯมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เพราะการกดราคาดังกล่าวทำให้มีการนำเข้าแอลพีจีสูงขึ้น ผลประโยชน์ตกอยู่กับโรงกลั่นในต่างประเทศ แต่หากจะปรับราคาไม่ควรปรับเท่ากับตลาดโลก แต่ควรจะกำหนดให้เท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาแอลพีจีและน้ำมันเตา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดลง ส่วนเรื่องการแยกราคาขายปลีกเป็น 2 ส่วนนั้น ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นด้วยเพราะอาจเกิดอันตราย ซึ่งต้องหาทางป้องกันการถ่ายเทให้ได้ ทั้งนี้ จากการที่รัฐตรึงราคาแอลพีจีมาช่วง 3 ปี ก็ทำให้การใช้แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นจาก 4 หมื่นตันต่อปี เป็นกว่า 7 แสนตันต่อปี

ขณะที่นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยออยล์(TOP) กล่าวว่า ไทยออยล์จำหน่ายแอลพีจีทั้งหมดในตลาด 1.6-1.8 หมื่นตัน/เดือน ดังนั้น หากราคาลอยตัวจะส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น 4-5 พันล้านบาท/ปี แต่หากใช้สูตรความแตกต่างระหว่างตลาดโลกและน้ำมันเตาแล้วก็คาดว่ารายได้จะยังได้มากกว่า 1 พันล้านบาท/ปี

กรณีปรับราคานี้ กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชยการนำเข้าลดลง และไม่เสียค่าขนส่งในอัตรา 50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะได้รายได้จากภาษีนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นจากรายได้แอลพีจีที่จำหน่ายในประเทศอีก 30%

สำหรับการนำเข้าแอลพีจีล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 120,000 ตันต่อเดือน หากโรงแยกก๊าซที่ 6 ผลิตเต็มที่ รวมไปถึงโรงกลั่นฯนำแอลพีจีมาจำหน่ายในระบบมากขึ้น และหากโรงงานอุตสาหกรรมหันกลับไปใช้น้ำมันเตาแทนแอลพีจีแล้ว จะทำให้ในอนาคตการนำเข้าลดลงได้มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ