สผ.เปิดตัวคู่มือ EIA โครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ทางสผ.ได้ลงนามและประกาศใช้คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมจัดทำกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทผู้รับสัมปทาน และบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน รวมกว่า 21 องค์กร

การจัดทำคู่มือฯ นี้ได้ดำเนินการภายใต้ “โครงการปรับปรุงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาปิโตรเลียม" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคู่มือฯ ที่มีความละเอียดในการกำหนดแนวทาง มีเนื้อหาตามหลักวิชาการ และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และได้มีการประกาศใช้คู่มือฯ EIA สำหรับโครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอย่างเป็นทางการ โดยนับเป็นความก้าวหน้าและแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

คู่มือการทำรายงาน EIA ดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้มาตรฐานการทำรายงานมีความครบถ้วนสมบูรณ์ในมิติทางสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ แล้ว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งส่วนที่จะต้องพิจารณาอนุมัติโครงการ และผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างความเข้าใจ ที่อยู่บนพื้นฐานของรายงานข้อมูล การวิเคราะห์ที่เป็นระบบ ครบถ้วนสมบูรณ์และมีคุณภาพ จากเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำในการยึดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง และทัศนคติในการทำเพื่อการพัฒนา จะทำให้ผู้ประกอบการ ได้ตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไว้ในรายงาน โดยไม่หวังแต่เพียงให้รายงานผ่านความเห็นชอบและใช้ประกอบในการขออนุญาตดำเนินโครงการเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าคู่มือที่จัดทำขึ้นตามแนวทางนี้ จะส่งผลดีต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

ด้านนายวิชัย ธารณเจษฎา ผู้แทนจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาปิโตรเลียมทั้งการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อ 3-4 ปีก่อน รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการจัดหาพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้พลังงานของประเทศ แต่ในการจัดทำรายงานก็มีข้อจำกัด เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ทำให้หลายโครงการที่จัดทำรายงานขึ้นขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องมีการแก้ไขหลายครั้ง และจากการที่รายงาน EIA ไม่สามารถเห็นชอบได้ตามกรอบระยะเวลาที่ผู้ประกอบการวางแผนไว้ ทำให้โครงการอนุมัติล่าช้า บางครั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัมปทานที่กำหนดไว้ ซึ่งจากนี้ไปเชื่อว่าคู่มือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง

“จุดเด่นของการพัฒนาคู่มือเล่มนี้คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทัศนคติมุมมองของทีมพัฒนาคู่มือฯ ที่ต้องการมุ่งที่จะลดผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเอาตัวรอดจากปัญหา" นายวิชัยกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ