ยูเอ็นแนะเอเชียกำหนดนโยบายควบคุมกระแสเงินทุน มุ่งสกัดสินทรัพย์ฟองสบู่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 15, 2010 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอเชียควรร่วมกันหามาตรการควบคุมเงินทุน เนื่องจากการที่เอเชียเป็นทวีปที่มีการขยายตัวเร็วที่สุดในโลกนั้นได้ดึงดูดให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ และกระตุ้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวในรายงานที่เปิดเผยในวันนี้ว่า "มาตรการดังกล่าวควรมีการนำไปใช้ในระดับภูมิภาค เนื่องจากไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถดำเนินมาตรการดังกล่าวได้เพียงลำพังโดยไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ผลกระทบจากการหลั่งไหลของกระแสเงินทุนต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในทันทีกับหลายประเทศในเอเชีย คือ การแข็งค่าของสกุลเงิน"

โดยสกุลเงินสำคัญของเอเชียต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้นในปีนี้ทุกสกุลเงิน ยกเว้นเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ผูกติดกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้หลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยและอินโดนีเซีย ต้องเร่งควบคุมการหลั่งไหลของเงินทุน เนื่องจากสกุลเงินที่แข็งค่าอาจสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกของเอเชีย

รายงานดังกล่าวระบุว่า "กระแสเงินทุนไหลเข้าเหล่านี้จะเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไร โดยนักลงทุนจะหาแหล่งลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะสั้นๆ"

ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียระบุว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนควรหาความเป็นไปได้ในการร่วมมือด้านอัตราแลกเปลี่ยนในระดับภูมิภาค เพื่อควบคุมกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างมีประสิทธิภาพและปรับสมดุลด้านปัจจัยที่หนุนการขยายตัวให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซียจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 7% ในปี 2554 จากที่คาดการณ์ไว้ 8.3% ในปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงในยุโรปและเอเชียส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ด้านการส่งออก

รายงานของยูเอ็นระบุว่า "เพื่อเป็นการชดเชยในสิ่งที่อาจสูญเสียไป เราจำเป็นต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคเพื่อกำหนดมาตรการนี้ขึ้น เพื่อให้ภาคการส่งออกได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีอุปสงค์ขยายตัวแข็งแกร่ง"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ